เมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 และการประชุมอื่น ๆ   ที่เกี่ยวข้อง (The 148th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุม CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส  เป็นวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ดังนี้

1. เวลา 09.00 – 11.30 นาฬิกา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (Bureau of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 51 ในวาระที่สอง โดยมี Ms. F. Ilimi Haddouche สมาชิกรัฐสภาจากแอลจีเรีย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณากำหนดการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 52 และการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี  (Forum of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 39 ซึ่งจะจัดขึ้นในห้วงการประชุมสมัชชาครั้งถัดไปในเดือนตุลาคม 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในการดังกล่าว นางสุวรรณีฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ ในประเด็นการให้ความสำคัญกับสิทธิของเด็กในระหว่างสงคราม พร้อมทั้งเสนอให้สมาชิกรัฐสภาร่วมกันเรียกร้องสันติภาพและการหยุดยิงเพื่อเด็กและสตรี ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง หรือภาวการณ์สู้รบและความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่ใดในโลกก็ตาม นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภากับสหประชาชาติซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสตรีของสหภาพรัฐสภาให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็งได้อย่างมีนัยสำคัญ

2. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) สมัยที่ 213 ในวาระที่สอง ในช่วงเช้า ณ ห้อง Amphitheatre D โดยที่ประชุมเริ่มต้นการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในระเบียบวาระที่ยังค้างการพิจารณาต่อเนื่องจากวาระที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 โดยได้รับทราบสถานการณ์ล่าสุดของรัฐสภาในประเทศสมาชิกบางประเทศที่ไม่อยู่ในภาวะปกติ (situation of certain parliaments) อีกทั้งรับฟังรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงาน IPU Task Force on peaceful resolution of the war in Ukraine และให้ความเห็นชอบต่อแผนกิจกรรมในปฏิทินการประชุมของสหภาพรัฐสภาในอนาคต ในห้วงปี 2567 - 2568 ตามที่คณะกรรมการบริหาร IPU เสนอ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพที่รัฐสภาไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ด้วย รวมทั้งให้ความเห็นชอบองค์ประกอบของคณะกรรมการเตรียมการจัดการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 6 ที่กำหนดจะมีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2568 ตลอดจน รับทราบสถานะล่าสุดของการพิจารณามอบรางวัล Cremer-Passy Prize หรือรางวัลสมาชิกรัฐสภาแห่งปี ประจำปี 2567 ซึ่งในปีนี้ สหภาพรัฐสภาจะมอบรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าวให้แก่สมาชิกรัฐสภาของประเทศสมาชิกที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในด้านการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศซึ่งถือเป็นวาระหลักที่ IPU จะผลักดันในปีนี้

จากนั้น ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ได้พิจารณาคำวินิจฉัย (decisions) ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) ต่อกรณีข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยในครั้งนี้มีกรณีที่คณะกรรมการฯ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ทั้งหมด 17 กรณีจาก 15 ประเทศ อีกทั้ง ยังได้รับฟังรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมการประชุมเฉพาะด้าน (specialized meetings) รวม 6 รายการ ที่ IPU จัดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงได้รับฟังรายงานจากคณะกรรมการเฉพาะด้าน (specialized bodies) ซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 10 คณะ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ยังได้ลงมติเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อโดยประเทศสมาชิกเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ใน IPU ที่ว่างลง ตามสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา จำนวน 1 ตำแหน่ง (DR Congo) จากกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์แอฟริกา รวมถึง ตำแหน่งที่ว่างลงอีก 12 ตำแหน่ง ในคณะกรรมการชุดที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 5 คณะ ซึ่งในการดังกล่าวที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรับรองให้นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสมาชิกคนใหม่ของคณะกรรมาธิการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Committee to Promote Respect for International Humanitarian Law) ในสัดส่วนกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกอย่างเป็นทางการด้วย ทั้งนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมลงมติเพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภาไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการว่าด้วยปัญหาตะวันออกกลาง (Committee on Middel East Question) ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครมากกว่าตำแหน่งที่ว่าง ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตำแหน่งในคณะกรรมาธิการดังกล่าว เป็นของผู้สมัครเพศชายจากฝรั่งเศส และผู้สมัครเพศหญิงจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และจอร์แดนตามลำดับ

อนึ่ง ในช่วงท้ายของการประชุมคณะมนตรีบริหาร ที่ประชุมได้เป็นสักขีพยานพิธีการมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติโดยประธานสหภาพรัฐสภาและเลขาธิการสหภาพรัฐสภาให้แก่               นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของนางพิกุลแก้วฯ ที่ได้ประกอบคุณงามความดีสนับสนุนกิจการของสหภาพรัฐสภา ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา และรองประธานสหภาพรัฐสภา (สัดส่วนกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก) ในช่วงปี 2562 – 2566 

3. ในช่วงบ่าย ที่ประชุมเต็มคณะได้เปลี่ยนเข้าสู่การพิจารณาวาระของสมัชชา (Assembly) ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองแถลงการณ์เจนีวา (Geneva declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการอภิปรายทั่วไปของที่ประชุมสมัชชาในครั้งนี้โดยฉันทามติ โดยในการดังกล่าว นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเกียรติจาก IPU ในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่มีอายุน้อยที่สุดในการประชุมสมัชชาครั้งนี้ เชิญให้เป็นผู้นำเสนอแถลงการณ์เจนีวาต่อที่ประชุมสมัชชาร่วมกับ Ms. Emma Muteka สมาชิกรัฐสภานามิเบีย โดยมีสาระสำคัญเน้นย้ำถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งของรัฐสภาทั่วโลกในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางเสริมสร้างความร่วมมือผ่านการทูตรัฐสภาในการสานเสวนา เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ตลอดจนการเคารพในกฎกติการะหว่างประเทศ ในโอกาสที่ IPU กำลังจะมีอายุครบ 135 ปี ในปีหน้า รัฐสภานานาประเทศพึงทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารของตน และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในทุกระดับโดยเฉพาะสตรี และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่การลดการสะสมอาวุธ และผันงบประมาณทางการทหารไปยังโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในป้องกันและคลี่คลายปมปัญหาต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในบริบทที่เสถียรภาพและความมั่นคงของโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่มีความซับซ้อนนานับประการทั้งในรูปแบบเก่าและใหม่

ต่อมา ที่ประชุมสมัชชาฯ ได้รับฟังรายงานจากคณะกรรมาธิการสามัญของ IPU ทั้ง 4 คณะโดยที่ประชุมได้มีมติโดยฉันทานุมัติรับรองร่างข้อมติ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างข้อมติว่าด้วยการกำกับควบคุมจักรกลสังหารที่ไร้มนุษย์ควบคุม ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีประเทศที่ตั้งข้อสงวนต่อเนื้อหาบางส่วนของข้อมติหรือทั้งฉบับ รวม 13  ประเทศ และรับรองร่างข้อมติว่าด้วยพลังงานสีเขียวที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่ตั้งข้อสงวนต่อเนื้อหาบางส่วนของข้อมติหรือทั้งฉบับ รวม 4 ประเทศ

จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติรับรองหัวข้อบทบาทของภาครัฐสภาในการส่งเสริม Two-State solution ในปาเลสไตน์เพื่อจัดทำเป็นร่างข้อมติในอนาคตของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่าง พร้อมทั้งรับรองการแต่งตั้งผู้นำเสนอรายงานร่วม (co-rapporteurs) จากแอลจีเรียและไอร์แลนด์ และได้มีมติรับรองหัวข้อการลดผลกระทบในระยะยาวของความขัดแย้งและการสู้รบที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจัดทำเป็นร่างข้อมติในอนาคตของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งรับรองการแต่งตั้งผู้นำเสนอรายงานร่วมจากโปแลนด์ บาห์เรน และนามิเบีย ตลอดจนได้รับรองญัตติ (motion) ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยกิจการสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกด้วย

ก่อนพิธีปิดการประชุม ที่ประชุมได้รับฟังคำกล่าวปิดการประชุมจากตัวแทนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง 6 กลุ่ม ตามธรรมเนียมปฏิบัติของ IPU ในตอนท้าย ที่ประชุมได้รับฟังถ้อยแถลงปิดการประชุมของ  Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา และ Dr. Tulia Ackson ประธานสหภาพรัฐสภา โดยประธานสหภาพรัฐสภาได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า แม้ที่ประชุมสมัชชาในครั้งนี้ จะไม่สามารถร่วมกันแสดงท่าทีของ IPU ต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซาซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจในรูปของข้อมติวาระเร่งด่วนได้ก็ตาม แต่สหภาพรัฐสภาจะไม่ยอมนิ่งเฉยต่อความทุกข์ยากของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว จึงเห็นควรที่ IPU จะออกแถลงการณ์ของประธาน IPU ร่วมกับเลขาธิการ IPU (IPU Leadership Statement on the situation in Gaza) ในนามประชาคมรัฐสภาโลกเพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงระหว่างคู่ขัดแย้ง และปล่อยตัวประกันทั้งหมดในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึง ประณามการใช้ความรุนแรงกับพลเรือน พร้อมทั้ง เน้นย้ำการเปิดทางให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ตลอดจน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายว่าด้วยมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ก่อนที่ประธานสหภาพรัฐสภา ในฐานะประธานสมัชชาฯ จะปิดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 ลงอย่างเป็นทางการในเวลา 16.15 นาฬิกา ทั้งนี้ หลังจากพิธีปิดการประชุม คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมแสดงความยินดีกับประธานสหภาพรัฐสภาและเลขาธิการสหภาพรัฐสภา ในโอกาสที่ IPU ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมสมัชชา ครั้งที่ 148 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมรอบเจนีวาครั้งแรกในรอบ 6 ปี ให้ลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย

4. นอกเหนือจากกิจกรรมการประชุมเต็มคณะในการประชุมสมัชชาวันสุดท้ายแล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังได้รับการทาบทามจากสหภาพรัฐสภาให้เป็นตัวแทนของรัฐสภาไทยร่วมบันทึกคลิปวิดีทัศน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Parliaments for the Planet” ซึ่ง IPU รวบรวมแนวปฏิบัติที่ดีของรัฐสภาทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยนายพิธาฯ ได้นำเสนอถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อประเทศไทยและการดำเนินการล่าสุดของรัฐสภาไทยในการรับมือกับความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IPU จะนำคลิปวิดีทัศน์ดังกล่าวออกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ของสหภาพรัฐสภาต่อไป

เครดิต  : ภาพและข่าว โดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา    ครั้งที่ 148 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
 
download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562