เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 148th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 23 - 27 มี.ค. 67 ณ ศูนย์การประชุม CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมวันที่สาม ดังนี้ 1. การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ในเวลา 09.00 - 13.00 น. และ เวลา 14.30 - 18.00 น. ที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของหัวหน้าคณะผู้แทนที่มิได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาหรือประธานรัฐสภา ซึ่งได้รับการจัดสรรเวลาสำหรับกล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 5 นาที ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้คือ Parliamentary diplomacy: Building bridges for peace and understanding" จากนั้น ในช่วงบ่าย ที่ประชุมสมัชชาได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง Mr. Martin Chungong เลขาธิการ IPU กับ Dr. Tedros A. Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภากับองค์การอนามัยโลกในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งหมายให้รัฐสภาเพิ่มการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวาระเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกคน ภายใต้บริบทที่นานาประเทศกำลังร่วมกันจัดทำร่างอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกัน เตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อโรคระบาด (Pandemic Convention) ฉบับแรกของโลกให้แล้วเสร็จในปีนี้
2. นอกจากนั้น คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้ปฏิบัติภารกิจในการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ อาทิ 2.1 นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (The IPU Standing Committee on International Peace and Security) เป็นวันที่สอง ระหว่างเวลา 09.00 - 13.00 น. เพื่อร่วมแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างข้อมติเป็นรายวรรค (Drafting in Plenary) ในหัวข้อ Addressing the social and humanitarian impact of autonomous weapon systems and artificial intelligence ต่อจากเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 67 ซึ่งข้อเสนอของไทยโดยส่วนใหญ่ได้รับการรับรองจากที่ประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมจะพิจารณารับรองร่างข้อมติฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 26 มี.ค. 67 ต่อไป 2.2 ในช่วงบ่าย ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (The IPU Standing Committee on Sustainable Development) โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างข้อมติ หัวข้อ "Partnerships for climate action: Promoting access to affordable green energy, and ensuring innovation, responsibility and equity" เป็นวันที่สอง ต่อจากวันที่ 24 มี.ค. 67 ในส่วนของวรรคปฏิบัติการ (operative paragraph) ในการนี้ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ฯ ได้เสนอสองประเด็นหลักต่อที่ประชุม ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้รัฐสภาประเทศสมาชิกพัฒนากลไกของภาครัฐสภาในการติดตามและรายงานอย่างเป็นระบบผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ การจัดทำงบประมาณสีเขียว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และ 2) ส่งเสริมให้รัฐสภามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นยิ่งขึ้นโดยใช้เครื่องมือของสหภาพรัฐสภา ได้แก่ IPU Climate Change 10 Greener actions เพื่อปรับระบบการทำงานของรัฐสภาให้สอดคล้องกับโครงการริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกระตุ้นให้ภาครัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นใน 'การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด' หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุความตกลงปารีส โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ อนึ่ง การแก้ไขร่างข้อมติในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีคำขอแก้ไขร่างข้อมติเสนอเข้ามาในจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ จำนวนกว่า 230 ข้อเสนอ จากรัฐสภาประเทศสมาชิกกว่า 27 ประเทศ
2.3 นายอัคร ทองใจสด พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (Standing Committee on Democracy and Human Rights) ซึ่งจัดการอภิปรายเพื่อเตรียมการยกร่างข้อมติในหัวข้อ The Impact of artificial intelligence on democracy, human rights and rule of law ซึ่งจะพิจารณารับรองในการประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ 149 โดยที่ประชุมได้อภิปรายถึงนัยของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ การใช้เทคโนโลยี deepfake เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือการใช้ AI สร้างกระแสปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังขึ้นในสังคม ทั้งนี้ นายอัคร ทองใจสด ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าวโดยเน้นการดำเนินการของภาครัฐสภาในการออกกฎหมายที่วางอยู่บนสมดุลระหว่างการส่งเสริมและการกำกับควบคุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ AI โดยได้ยกตัวอย่างความก้าวหน้าของคณะ กมธ.วิสามัญ ที่สภาผู้แทนราษฎรไทยได้ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาประโยชน์และความเสี่ยงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ตลอดจนการเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม AI และสนับสนุนธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จาก AI ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไทยในอนาคตต่อไป
2.4 ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะทำงานว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหภาพรัฐสภา (IPU Working Group on Science and Technology: WGST) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงาน WGST โดยมี Mr. Denis Naughten สมาชิกรัฐสภาไอร์แลนด์ ในฐานะประธานคณะทำงาน WGST ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการมีส่วนร่วมในการประชุมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 6 รายการ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนร่างเอกสารของชุดเครื่องมือ (Toolkit) ที่จัดทำขึ้นสำหรับสมาชิกรัฐสภา เพื่อเป็นตัวช่วยในการสนับสนุนรัฐสภาในการเสริมสร้างความร่วมมือกับชุมชนวิทยาศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกหลายประเทศรวมทั้งไทยในการตอบแบบสำรวจว่าด้วยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐสภาและชุมชนวิทยาศาสตร์ ในการนี้ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อการทำงานของประธาน WGST และสมาชิกคณะทำงานฯ ในการผลักดันร่างเอกสารฉบับนี้ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีความครอบคลุม สื่อสารได้อย่างตรงเป้าชัดเจน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมเอกสารฉบับนี้ให้เป็นที่รู้จักของทั้งบุคคลในวงงานรัฐสภา ชุมชนวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป รวมถึงการแปลเอกสารเป็นภาษาต่าง ๆ พร้อมทั้ง เสนอให้จัดทำเครื่องมือติดตามความก้าวหน้าในการนำเอกสารฉบับนี้ไปใช้ในอนาคตต่อไป
2.5 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยวิกฤตของระบบพหุภาคี (High-level meeting on the Crisis of multilateralism: root causes and possible solutions) ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นโดยคณะ กมธ.สหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมระดับประธานรัฐสภาหรือรองประธาน โดยที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของรัฐสภาในการผลักดันวาระเพื่อปฏิรูประบบสหประชาชาติ โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ระบบพหุภาคีนิยมของประชาคมระหว่างประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในมิติด้านความรับผิดชอบ และความโปร่งใส ที่รัฐสภาสามารถเสริมเพื่อฟื้นฟูศรัทธาในระบบพหุภาคีนิยมภายใต้สถาบันสหประชาชาติให้สามารถตอบสนองกับความท้าทายใหม่ของโลกปัจจุบัน ซึ่งในการดังกล่าวรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุม ความว่า ไทยสนับสนุนให้มีการปฏิรูประบบพหุภาคีนิยมของสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นให้ประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลาง มีสิทธิมีเสียงในเวทีพหุภาคีมากขึ้น และเห็นควรให้ใช้เวทีพหุภาคีเป็นกลไกแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค เช่น สถานการณ์ในเมียนมา โดยรัฐสภาสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการสร้างจุดเกาะเกี่ยวระหว่างกิจการต่างประเทศ ในกรอบพหุภาคีให้ยึดโยงกับประชาชน เพื่อเพิ่มมิติประชาธิปไตยในกระบวนการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศร่วมกัน
2.6 ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ (Workshop on strengthening climate legislation: Practical tools for parliamentraians) จัดโดย IPU ร่วมกับ Julie Ann Wrigley Gloabl Futures Laboratory (มหาวิทยาลัย Arizona State University) โดยที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงผลของการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งความท้าทายสำคัญคือความพยายามของทุกประเทศขณะนี้ยังคงไม่เพียงพอที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ไม่ให้เกิน 1.5°C หรือแม้กระทั่ง 2°C ทั้งนี้ รัฐสภาประเทศสมาชิกต่างเห็นพ้องกันในการยกระดับการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในการออกกฎหมายที่ระดมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติอันสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงปารีส โดยเฉพาะความจำเป็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิกรัฐสภาให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง climate change ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
2.7 นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการอภิปราย Panel Discussion on Interfaith Dialogue: Building bridges through interfaith dialogue for more peaceful and inclusive societies โดยได้นำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า รัฐสภาไทยมีสมาชิกรัฐสภาจากหลากหลายกลุ่มชุมชนทางศาสนาที่ทำงานร่วมกันได้บนหลักของการเคารพซึ่งกันและกัน และหลักขันติธรรมซึ่งสะท้อนถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้โดยสันติและกลมเกลียวมาเป็นเวลาช้านาน โดยได้ยกตัวอย่างประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองคนของไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ ตามลำดับ รวมถึงนำเสนอบทบาทของรัฐสภาเพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนิกชนต่างศาสนาในประเทศไทย
2.8 ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จัดโดย IPU ร่วมกับ UNESCO และ IGF โดยที่ประชุมได้รับฟังการนำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญในด้าน AI และได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางที่สมาชิกรัฐสภาสามารถดำเนินการ ทั้งในมิติของการส่งเสริม และในมิติของการกำกับควบคุมการพัฒนา AI และเป็นสื่อกลางในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงประโยชน์และความท้าทายของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนวิธีการจัดการปัญหาด้านความรุนแรงในมิติทางเพศที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี AI
3. นอกจากนี้ ในการประชุมวันที่สาม คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้พบปะหารือทวิภาคีกับคณะผู้แทนรัฐสภามิตรประเทศ รวม 2 รายการ ดังนี้ 3.1 การพบปะหารือทวิภาคีระหว่างคณะผู้แทนรัฐสภาไทยกับคณะผู้แทนรัฐสภาเยอรมนีนำโดย Mr. Volkmar Klein โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับเยอรมนีในหลากหลายมิติ อาทิ ด้านพลังงาน และด้านการลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาระบบงานนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรัฐสภาสีเขียวเพื่อความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านระบบงานรัฐสภาไปสู่ความเป็นดิจิทัล และการเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในงานของรัฐสภา โดยฝ่ายเยอรมนีให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนความร่วมมือกับอาเซียนและแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งนี้ ฝ่ายเยอรมนีขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนเยอรมนีซึ่งอยู่ระหว่างการสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์ใน AIPA ด้วย ด้านฝ่ายไทย ได้แจ้งว่าไทยกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมในแนวพรมแดนไทย-เมียนมาร่วมกับหลากหลายภาคส่วน พร้อมทั้งเสนอให้เยอรมนีสนับสนุนการพิจารณายกเว้นวีซ่าเชงเก้นสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทย รวมถึงขอความสนับสนุนการลงสมัครชิงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ของไทยในวาระปี 2568 2570
3.2 การพบปะหารือทวิภาคีกับคณะผู้แทนรัฐสภาออสเตรเลีย นำโดย Ms. Deborah O'Neill สมาชิกวุฒิสภาออสเตรเลีย โดยฝ่ายไทยมีความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบงานนิติบัญญัติของทั้งสองฝ่าย อาทิ การส่งเสริมบทบาทของสตรีและความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ในรัฐสภา รวมไปถึงความหลากหลายในทุกมิติ และการเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของรัฐสภา ตลอดจน การศึกษาเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (PBO) ที่ทั้งรัฐสภาไทยและออสเตรเลียต่างมีเหมือนกัน โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรของไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในวาระที่สาม ที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งออสเตรเลียได้ผ่านกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมดังกล่าวล่วงหน้าไปก่อนหน้าแล้ว พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบว่ารัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยความมั่งคงด้านสุขภาพร่วมกับ IPU ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ และจะมีหนังสือเชิญไปยังรัฐสภาออสเตรเลียต่อไป
ด้านฝ่ายออสเตรเลียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ออสเตรเลียกับอาเซียนและในกรอบอินโด-แปซิฟิกในหลากหลายมิติ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านการเชื่อมต่อ (connectivity) โดยไทยกับออสเตรเลียต่างให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอดในกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใน IPU และหวังว่าไทยและอาเซียนจะสามารถร่วมกันจัดการกับความท้าทายที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ เช่น ประเด็นในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในเมียนมาในปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้ ออสเตรเลียได้ขอความสนับสนุนจากไทยพิจารณาร่วมอุปถัมภ์ หัวข้อ บทบาทของรัฐสภาในการขจัดปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี corporate tax ที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ออสเตรเลียจะเสนอเพื่อจัดทำเป็นร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามวงรอบการจัดทำร่างข้อมติของ IPU สำหรับการประชุมสมัชชาสองครั้งถัดไป ในโอกาสนี้ด้วย
เครดิต : ข่าวและภาพโดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|