วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรองนายกุนเธอร์ คริชบาวม์ (Hon. Mr. Gunther Krichbaum MdB) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีในโอกาสเดินทางเยือนไทย โดยมี นายฉลาด ขามช่วง รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา คนที่สอง นายอาณัติ วัชรางกูล ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร (กิตติมศักดิ์) คนที่สอง นางพิชชา เชื้อเมืองพาน ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง และนายอาพล นันทขว้าง ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าวต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยความยินดี และชื่นชมที่ นายกุนเธอร์ คริชบาวม์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มายาวนานติดต่อกันถึง 6 สมัย พร้อมกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย - เยอรมนี ที่มีความแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนานถึง 162 ปี ทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาล รัฐสภา และประชาชน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี กล่าวถึง การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนี รวมทั้งการเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีของไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีความตั้งใจในการพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน โดยเยอรมนีพร้อมสนับสนุนไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ พลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ยังได้หารือกันในประเด็นดังต่อไปนี้
ด้านการค้าการลงทุน ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย -สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งรัฐสภาไทยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว อันจะก่อให้ประโยชน์ในด้านการค้าการลงทุนต่อไป ทั้งนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้ให้เยอรมนีพิจารณานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ด้านการศึกษา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลเยอรมนีที่ได้การสนับสนุนการศึกษาของไทย โดยเฉพาะโครงการแลกเปลี่ยนด้านการวิจัย นับเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย ในการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่นักศึกษาและแรงงานไทยต่อไป
ด้านสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ฝ่ายไทยประสงค์จะเห็นการแก้ไขปัญหาด้วยสันติภาพ และยึดมั่นตามมติของสหประชาชาติ ในขณะเดียวกันก็มีความห่วงใยในสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาบริเวณชายแดนมาโดยตลอด
ด้านการท่องเที่ยว ประธานรัฐสภากล่าวถึงในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 729,163 คน คิดเป็นอันดับที่ 3 ในยุโรป พร้อมกล่าวเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเดินทางมาท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามน่าท่องเที่ยวมาก และในโอกาสนี้ ได้กล่าวเชิญรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เครดิต : ข่าวโดยกลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|