วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คนที่หนึ่ง พร้อมคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมว่า วันนี้คณะ กมธ. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 27 มี.ค. 67 ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ พ.ร.บ. จะผ่านและเข้าไปอยู่ในชั้นของสภา นี่เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนในฐานะตัวแทนของคณะกมธ. ทำงานร่วมกันมาจนวันนี้พิจารณาสำเร็จ ถือเป็นความสำเร็จของทุกคน และพี่น้องประชาชนจะได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนทุกคน และเชื่อว่าสภาฯ จะให้ความเห็นชอบ ในนามคณะกมธ. ขอขอบคุณประชาชน กมธ. และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน เพราะกฎหมายฉบับนี้กำลังจะเปลี่ยนบริบทสังคมครั้งใหญ่ เป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย และจะสำเร็จในปีนี้ ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกคน ขอความเท่าเทียมจงเกิดขึ้นในประเทศไทย สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ บุคคลที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามสามารถหมั้นและสมรสกันได้ มีสิทธิในสวัสดิการตามที่สามีหรือภรรยาได้สิทธิตามบทบัญญัติในกฎหมายอื่นตามการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับนี้ ภายใน 120 วันหลังการประกาศใช้ และสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ แต่การขอสัญชาติ การตั้งครรภ์ทางเทคโนโลยี จะมีการพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนกันต่อไป

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ รองประธานฯ คนที่สอง กล่าวว่า วันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในฐานะผู้แทนราษฎรและเป็นคนที่ทำงานเพื่อประชาชนรู้สึกเป็นเกียรติกับการขับเคลื่อนการต่อสู้ของภาคประชาชน และการทำงานของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทุกพรรคการเมือง ถือว่าเป็นวาระสำคัญเป็นวาระที่ทุกคนปักธงร่วมกันและสภาผู้แทนราษฎรจะนำพากฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้อย่างเร็วที่สุด กำหนดการที่วางไว้คือจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาวันที่ 27 มี.ค. 67 และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาชุดนี้ก่อนหมดวาระ เพราะเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา สว. ได้มีการอภิปรายถึงสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและเร่งรัดให้รัฐบาลรีบผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม นั่นเป็นสัญญาณที่ดีอย่างมาก ต้องขอบคุณนายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะ กมธ. ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สว. จนมีสัญญาณที่ดีที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจาก สว. นี่คือความเท่าเทียมครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในสถาบันนิติบัญญัติ ตนในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีอีกหลายก้าวที่จะต้องก้าวต่อไป 

จากนั้น นายณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานฯ คนที่เจ็ด กล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชน ว่า ภาคประชาชนมีความตื่นเต้นเพราะรอกฎหมายฉบับนี้มานานมาก เป็นการเปิดประตูที่จะทำให้สิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีความเท่าเทียมในสังคมในฝั่งภาคประชาชนเองได้ทำงานอย่างเต็มที่ นำเสียงของภาคประชาชน นำเสียงของเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่สามารถมายืนอยู่ตรงนี้กับเราได้ทั้งหมด แต่กมธ. ได้นำเสียงของพวกเขา นำเรื่องราวของพวกเขามาพูดเพื่อทำการพิจารณา พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยในวันที่ 18 มี.ค. 67 ณ ห้องสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา จะมีการเสวนาเรื่องหลักนิติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว โดยมีวิทยากรที่มาจากภาคประชาชนและ สว. เพื่อพูดคุยตกผลึกร่วมกันว่าในฝั่งของ สว. จะให้การสนับสนุนสมรสเท่าเทียมได้อย่างไรบ้าง

download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562