|
|
วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องจัดเลี้ยง 111 ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ New Generation ใส่ใจวิถีประชาธิปไตย ประจำปี 2567 ครั้งที่ 2 พร้อมปาฐกถาในหัวข้อ การทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ในบทบาทของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายสุรบดินทร์ ผกาหอม ประธานโครงการฯ กล่าวรายงาน
ทั้งนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ได้กล่าวถึงการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติในบทบาทของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ใจความตอนหนึ่งว่า สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 คน โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรจะมอบหมายอำนาจและหน้าที่แตกต่างกันไป รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในแง่การเป็นตัวแทนขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ และการเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย โดยภารกิจทุกด้านของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความหลากหลายและเป็นภารกิจที่สำคัญทั้งสิ้น ซึ่ง ในฐานะที่ตนได้รับมอบหมายหน้าที่จากประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ปฏิบัติหน้าที่งานเกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองร่าง พ.ร.บ.การจัดระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. พ.ร.ก. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก. และงานอื่นใดที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรมอบหมาย ซึ่งตนมีเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็น SMART Parliament โดยต้องการเสริมสร้างกระบวนการนิติบัญญัติให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งการที่จะพัฒนากระบวนการนิติบัญญัติให้มีคุณภาพได้นั้น จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับกระบวนการนิติบัญญัติให้เป็นมาตรฐานสากลให้ได้ไม่ใช่เพียงในประเทศ แต่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย กล่าวคือ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่ประชาชน สื่อมวลชน และ สส. สามารถติดตามกระบวนการผ่านร่างกฎหมายได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและติดตามกฎหมายได้อย่างสะดวก และมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในทุกภาคส่วน และร่วมกันพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้เบ่งบานยิ่งขึ้น ส่วนระบบการทำงานของสถาบันนิติบัญญัติที่สำคัญคือ การตรากฎหมาย การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน อาทิ การสนับสนุนการตรากฎหมายภาคประชาชน ซึ่งเสนอมายังสภาผู้แทนราษฎร รวมจำนวน 59 ฉบับ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย อีกทั้งยังเตรียมเปิดระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและซักถามในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ อย่างเป็นกันเองด้วย
จากนั้น นายปดิพัทธ์ สันติภาดา มอบเกียรติบัตรให้กับคณะทำงาน 3 ชุด ดังนี้ 1.หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต 2. ประธานโครงการและคณะทำงาน และ 3. ตัวแทนผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ
สำหรับโครงการดังกล่าวจัดโดยคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption Foundation) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประชาธิปไตย ปลูกฝังค่านิยมคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังการดำเนินงานที่สุจริต ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเพื่อถ่ายทอดการดำเนินงานของกระบวนการนิติบัญญัติให้กับเด็กและเยาวชน โดยสามารถนำไปขยายผลเพื่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติต่อไป
|
|
|
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
|
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า |
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562
|
|
|
|
|
|
|