วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ และคณะ แถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าสถานการณ์เมียนมา ว่า คณะ กมธ. ได้เชิญหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทัพภาคที่ 3 สภาความมั่นคงแห่งชาติ และตัวแทน NGO (The Border Consortium) เข้าหารือเพื่อติดตามสถานการณ์ในเมียนมา โดยคณะ กมธ. มีข้อเสนอถึงรัฐบาล 5 ข้อ ดังนี้ 1. เรียกร้องให้ประเทศไทยเพิ่มบทบาทและทำงานร่วมกับอาเซียน ให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อผลักดันการดำเนินการ รวมทั้งประสานกับจีนและอินเดีย ตามฉันทามติ 5 ข้อ (5 Point Consensus) ในการเร่งผลักดันให้เมียนมาปฏิบัติตาม เพราะถือว่ามีพรมแดนติดกับเมียนมา ถือเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด 2. เปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างไทยกับเมียนมา รวมทั้งฝ่ายรัฐบาล SAC ฝ่าย NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา) และกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา 3. เรียกร้องให้มีการยับยั้งชั่งใจ ลดการใช้ความรุนแรง และหันมาใช้การพูดคุยเจรจากันมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการเห็นการต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้น และขอเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 4. ตั้งกลไกและหน่วยงานให้มีคณะกรรมการดูแลและดำเนินการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำหน้าที่คอยติดตามสถานการณ์ หากมีความรุนแรงกระทบข้ามมายังฝั่งไทย จำเป็นต้องปกป้องอธิปไตยของไทยให้เหมาะสม และสำหรับผู้หนีสงครามและผู้ลี้ภัย เห็นควรให้มีการจัดการบนพื้นฐานของมนุษยธรรม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานหลักดูแลเรื่องนี้ และเห็นว่ารัฐบาลไทยเสียโอกาสในการชูบทบาทไทยในการจัดการประเด็นในภูมิภาค 5. สำหรับการดูแลอพยพ ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยมาจากเมียนมาตั้งแต่ปี 2527 ระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ผ่านมา จึงเห็นควรให้มีการดูแลและช่วยเหลือบนพื้นฐานของมนุษยธรรม โดยให้มีการประเมินสิทธิในการทำงาน เพื่อให้กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรี และส่งเสริมการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม
|