วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ กมธ. แถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ. ในวันนี้ (14 ธ.ค. 66) ซึ่งได้มีการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมายและปัญหาราคาเนื้อหมูตกต่ำ โดยได้เชิญกรมสอบสวนคดีพิเศษ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ การนำเข้าเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยแฝงมากับสินค้าชนิดอื่นและสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล หรือวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ หรือโพลิเมอร์ (เม็ดพลาสติก) และกระจายสินค้าไปยังห้องเย็นต่าง ๆ ทั่วประเทศก่อนที่จะส่งไปยังร้านค้า ร้านอาหาร และผู้บริโภค จนทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศมีราคาตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูย่อมได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถขายเนื้อหมูในราคาที่เหมาะสมได้ อีกทั้งต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านอาหารหรือยารักษาโรค จากการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู กรมศุลกากรได้ตรวจจับเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายจากตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ และมีผู้กระทำความผิด 41 ราย กรมศุลกากรได้ขยายผลการกระทำความผิดดังกล่าวและส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวน และรับเป็นคดีพิเศษที่ 59/2566 ความเสียหายประมาณ 460,105,947 บาท โดยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่และตรวจค้นบริษัทนำเข้าสินค้า จำนวน 10 บริษัท อีกทั้งได้ประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับตู้สินค้าซากสัตว์ประเภทสุกรตกค้าง จำนวน 161 ตู้ เพื่อทำลายทรัพย์ของกลางด้วยการฝังกลบและทำรายงานประกอบสำนวนคดี ซึ่งได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหารายบุคคลแล้ว 12 หมาย อีกทั้งได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์ต่อไป โดยแบ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มบริษัทนำเข้าหรือกลุ่มชิปปิ้ง 2) กลุ่มนายทุนหรือบริษัทที่สั่งนำเข้า และ 3) กลุ่มห้องเย็นที่รับซื้อจากนายทุน
ทั้งนี้ จะได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อขยายผลหาตัวผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมดต่อไป โดยคณะ กมธ. ได้มีข้อสังเกตให้กรมสอบสวนคดีพิเศษควรดำเนินการ ดังนี้ 1. เร่งดำเนินการตรวจสอบขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็น ภาคเอกชนหรือภาคราชการ โดยต้องดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดในทุกฐานความผิด และต้องมีความรอบคอบและโปร่งใสในการดำเนินการเนื่องจากยังมีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมายอีกจำนวนมากที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากในขบวนการกระทำความผิด 2. ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการขยายผลถึงเส้นทางการเงินของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้กระทำความผิดและผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์ของกลุ่มบริษัทนำเข้าและกลุ่มนายทุนผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าว 3. บูรณาการกับกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษาและหารูปแบบการทำลายเนื้อหมูซึ่งเป็นทรัพย์ของกลาง และเพื่อให้ทราบถึงวิธีการทำลายให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด ตลอดจนถูกสุขลักษณะโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และขั้นตอนการทำงานทรัพย์ของกลางควรมีการเผยแพร่ข้อมูลให้โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ 4. บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยประชาสัมพันธ์และชี้แจงความคืบหน้าของคดีเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและเกษตรกร 5. เห็นด้วยกับการถอดบทเรียนการนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย โดยเฉพาะวิธีการปราบปราม การป้องกันการกระทำความผิด และผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นมาตรการและต้นแบบในการศึกษาคดีในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมและกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงหมูให้สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐาน ตลอดจนหาตลาดการค้าเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสในการทำการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ให้มีสัดส่วนของภาคเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับการเลี้ยงสุกรรายย่อยให้ดียิ่งขึ้น |