เมื่อวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา และนางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (Parliamentary Meeting at the 28th Session of the Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP28) ระหว่างวันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2566 ณ Expo City Dubai, เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  เป็นวันที่สอง การประชุมภาครัฐสภาเริ่มขึ้นด้วยพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยมี H.E. Saqr Ghobash ประธานรัฐสภาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (The Federal National Council) และนาย Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของฝ่ายนิติบัญญัติให้สอดคล้องกับการทำงานของภาครัฐบาล โดยแบ่งการประชุมออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้ 
ช่วงที่ 1 หัวข้อเรื่อง “Setting the scene: scientific insights, global progress and the call for enhanced ambition” และช่วงที่ 2 หัวข้อ “Bridging the gap: advancing climate action adaptation for vulnerable communities” โดยในหัวข้อนี้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และความเสมอภาคในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างของขนาดเศรษฐกิจ การพัฒนา และแหล่งเงินทุนของประเทศสมาชิก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพและความสามารถในการเปลี่ยนผ่านในเรื่องดังกล่าว โดยเรียกร้องให้รัฐภาคีรับผิดชอบต่อการจัดหาเงินทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนชุมชน รวมถึงเชื่อมโยงการปรับตัวเพื่อลดช่องว่างทางการเงิน ในการนี้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่า ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ วาระการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นของรัฐสภาไทย และประเทศไทยสนับสนุนวาระ Climate Acceleration Agenda ของเลขาธิการสหประชาชาติอย่างเต็มที่ อีกทั้งมุ่งมั่นที่จะเร่งดำเนินการเพื่อไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และรัฐสภาไทยจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวต่อไป พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่าการประชุมรัฐสภาครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มพูนองค์ความรู้และขีดความสามารถด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่รัฐสภาสมาชิกและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของรัฐสภาในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอย่างทันท่วงที

ต่อมาในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้เข้าสู่ช่วงที่ 3 การอภิปราย หัวข้อ “Climate action spotlight: leadership of womenparliamentarians and young parliamentarians” และช่วงที่ 4 การประชุม หัวข้อ “Beyond mitigation and adaptation: operationalizing loss and damage” ตามลำดับ โดยผู้แทนของรัฐสภาประเทศสมาชิกได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา การปรับตัวในระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกลไกระหว่างประเทศภายใต้ UNFCCC ในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดซึ่งเป็นประเทศในแนวหน้าที่เผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและต้องการการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน

ในการนี้ นางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าว โดยกล่าวถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่ประเทศไทยประสบอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง อาทิ น้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มิใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงทั้งภูมิภาคอาเซียนและจะกินระยะเวลาไปอีก 2 - 3 ปี โดยประเทศไทยได้มีการออกแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 และอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาจุดตั้งศูนย์เตือนภัย และจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้แก่กองทุนด้าน climate change ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความโปร่งใส และสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตื่นตัวของภาคประชาชน ในระดับท้องถิ่นและความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างขันแข็งในระดับภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

จากนั้น นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “Parliamentay oversight of the Paris Agreement Implementation post-COP28” ซึ่งเป็นช่วงที่ห้าของการประชุม โดยได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนในปี 2580 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2593 นอกจากนี้ ยังเน้นการปฏิรูปสถาบันการเงิน และนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม การขนส่ง และภาคการก่อสร้างไปจนถึงภาคการจัดการขยะและภาคเกษตรกรรมอีกด้วย รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการผลิตพลังงานหมุนเวียนในภาคเอกชน

ก่อนปิดการประชุม ที่ประชุมได้ร่วมกันให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ที่นำเสนอโดย Ms. Meera Al Suwaidi สมาชิกรัฐสภา UAE ในช่วง The Road ahead for parliamentary action on climate change ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการประชุม และรับฟังการกล่าวปิดการประชุมอย่างเป็นทางการโดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภา

อนึ่ง ในช่วงท้ายของการประชุม นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่นของ UAE โดยมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อพัฒนาการของบทบาทของภาครัฐสภาในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ และโครงสร้างการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหัวใจของการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ คือความร่วมมือกันอย่างจริงใจและเข้มแข็งของประเทศสมาชิก ซึ่งต้องลงมือทำอย่างจริงจังมากขึ้นในประเทศของตน พร้อมทั้งใช้โอกาสดังกล่าว กล่าวขอบคุณประเทศเจ้าภาพที่จัดการประชุมได้อย่างเรียบร้อย และไมตรีจิตที่ต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมจากรัฐสภาทั่วโลกได้อย่างอบอุ่นเป็นที่น่าประทับใจ

เครดิต : ภาพและข่าวโดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุม COP28 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562