วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 12.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ แถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ. ต่อกรณีการติดตามภารกิจช่วยเหลือชาวไทยในเมืองเลาก์ก่าย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ ได้แก่ อธิบดีกรมการกงสุล รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และเจ้ากรมยุทธการทหารบกซึ่งได้ข้อมูลที่ตรงกันว่า การให้ความช่วยเหลือ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ยังอยู่ในเมืองเลาก์ก่าย จำนวน 254 คน โดยมีกลุ่มที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทหารเมียนมา จำนวน 165 คน 2. กลุ่มที่กำลังเดินทางมายังประเทศไทย จำนวน 41 คน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงถึงปัญหาและอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือ ทางคณะ กมธ.จึงขอให้เร่งรัดกระบวนการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มดังกล่าวเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี ในการให้ความช่วยเหลือในส่วนอื่น ๆ ต่อไป
โดยในเบื้องต้นมีความพยายามอย่างเต็มที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานด้านความมั่นคง และตำรวจ ในการแสวงหาเส้นทางการช่วยเหลือชาวไทยให้เดินทางกลับโดยปลอดภัย ทั้งการประสานกลุ่มกองกำลังต่าง ๆ ภายในประเทศเมียนมา โดยมองว่าเส้นทางผ่านแดนทางหลินชาง ประเทศจีนเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ และรอเพียงการประสานงานในเรื่องเอกสารยืนยันตัวตนที่หลายคนอาจจะไม่สามารถนำเอกสารยืนยันตัวตนทางราชการติดตัวออกมาได้ทัน หลังจากนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศในฐานะเจ้าภาพหลัก จะดำเนินการประสานทางการทูตกับประเทศจีนในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศเมียนมาจึงมีปัญหาและอุปสรรคเป็นอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจากการพูดคุยในวันนี้ได้เห็นถึงความพยายามของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะทหารบก ซึ่งตั้งใจประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวไทยอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ.ได้มีมติส่งเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งรัดในการช่วยเหลือคนไทยอย่างเร่งด่วนที่สุด และจำเป็นต้องตั้งวอร์รูม (War Room) เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมามีความรุนแรงและน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง และเป็นบทพิสูจน์ว่าหากไม่สามารถช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยในเมืองเลาก์ก่ายได้ ก็ไม่สามารถมีศักยภาพในการช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่อื่นได้เลย ซึ่งต้องยอมรับว่ายังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือประชาชนคนไทยกลับมาได้เมื่อไหร่ แต่ได้พยายามยกระดับการช่วยเหลือและป้องกันประชาชนชาวไทยให้ได้รับความปลอดภัยมากที่สุด
ด้าน นายปิยรัฐ จงเทพ โฆษกคณะ กมธ. กล่าวว่า หลายประเทศออกแถลงการณ์เตือนประชาชน ว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมามีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยจากการประชุมร่วมกับสมาชิกสภาอาเซียน และผู้สังเกตการณ์จากหลายประเทศ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ได้ทราบปัญหาและแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในเวลาอันใกล้ จึงได้หารือในที่ประชุมเพื่อนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาในสัปดาห์หน้าเพิ่มเติม และหลังจากนี้คงจะมีการแถลงต่อสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนอีกครั้งว่าคณะ กมธ.ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ที่ปรึกษาคณะ กมธ. ขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาชี้แจงอีกครั้ง ซึ่งวันนี้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง และมีหลายเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่การเคลื่อนย้ายผ่านพื้นที่ที่มีการสู้รบและชายแดนประเทศจีนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคณะ กมธ.จะติดตามอย่างใกล้ชิด และจะหารือร่วมกับ ผบ.ทร. ผบ.ตร. และกระทรวงต่างประเทศเพิ่มเติมต่อไป ดังนั้น สถานการณ์ในขณะนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและมีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องหาทางช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยกลับมาโดยสวัสดิภาพ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ เลขานุการคณะ กมธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ.เข้าใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากของคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องการคำตอบที่ชัด และเร่งรัดการหามาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย ทั้งนี้ ได้เสนอไปยังรัฐบาลว่าขอให้แจ้งไปยังพี่น้องชาวไทยที่อาศัยในประเทศเมียนมาเพื่อให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยก่อนที่สถานการณ์ความรุนแรงจะขยายเป็นวงกว้าง และขอให้รัฐบาลมีมาตรการและขยายกรอบระยะเวลาในการเตรียมอพยพเพิ่มเติมต่อไป
นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ โฆษกคณะ กมธ. ได้แจ้งกำหนดการการลงพื้นที่ จ.สุรินทร์-กัมพูชา ในวันที่ 30 พ.ย. - 2 ธ.ค. 66 เพื่อรับทราบปัญหาบริเวณชายแดน จ.สุรินทร์ และขอให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนติดตามผลการลงพื้นที่ ซึ่งคณะ กมธ.จะมีการแถลงข่าวในคราวต่อไป |