วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารัฐสภา นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกมธ. การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับยื่นหนังสือนายวิเชียร ชัยเพชร ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากชุมชนประชาสามัคคี ม.2 ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ด จ. ภูเก็ต เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ว่าที่ ร.ต. สมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมายื่นถึงประธาน คณะ กมธ. เนื่องจากปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยชาวบ้าน 400 ครัวเรือน 2,000 คน ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่า 20 ปี ยังไม่มีทะเบียนบ้าน ทั้งที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีเศรษฐกิจขนาดเติบโตจนสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้เป็นอันดับต้น ๆ แต่ยังมีประชาชนของใจกลางจังหวัดกว่า 40 ชุมชน ตั้งแต่อำเภอเมืองภูเก็ตไปถึงอำเภอถลาง จังหวัดที่นำรายได้เข้าประเทศในอันดับต้น ๆ กลับมีประชาชนที่ถูกทอดทิ้งไม่มีแม้กระทั่งทะเบียนบ้านเป็นของตนเอง เข้าไม่ถึงสิทธิ์และโครงสร้างพื้นฐาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำประเด็นเหล่านี้หารือกับสภา เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านให้ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต และทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาชาวบ้าน ทั้งนี้ ชุมชมประชาสามัคคีได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ดินใบสัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่ ตอนนี้ชาวบ้านกว่า 2,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนปี 2544 และมาจับจองปลูกที่อยู่อาศัยเพิ่มเดิมปี 2556 จนเต็มพื้นที่ ต่อมาเมื่อปลายปี 2558 อำเภอเมืองภูเก็ตประกาศให้ที่ตรงนี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ อันเนื่องจากสัมปทานบัตรขาดตั้งแต้ปี พ.ศ. 2534 ในขณะนั้นทายาทบริษัท สมบัติ บุญสูง ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐว่าเอาที่กองมรดกของตระกูลบุญสูงไปประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ และอ้างว่าต่อเนื่องในที่ดิน โดยนำใบ ภบท. 5 ซึ่งเสียภาษีบำรุงท้องที่จากปี 2545- 2548 มาแสดง ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์พิพากษาว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินของสัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่ เมื่อหมดสัมปทานก็ต้องตกเป็นของแผ่นดิน และในรายละเอียดในขณะนั้น การทำเหมืองแร่ได้หยุดทำการตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เพราะขาดทุนไม่มีแร่ดีบุก ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 60 ศาลฎีกาตัดสินให้ที่ดินแปลงดังกล่าว กลับมาเป็นมรดกของตระกูลบุญสูง และให้ยกเลิกคำประกาศของอำเภอเมืองภูเก็ต นายทุนจึงฟ้องไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่และเรียกค่าเสียหาย ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก จึงขอให้คณะ กมธ. เข้าตรวจสอบที่ดินดังกล่าว เพราะชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ด้วยเหตุดังนี้
1. นายทุนฟ้องขับไล่ชาวบ้านด้วยแค่สัมปทานบัตร แต่ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ และสัมปทานบัตรขาดตั้งแต่ปี 2535 ทำไมถึงมีสิทธิ์ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน กองมรดกดังกล่าวได้มาตามคำสั่งของศาลจังหวัดตะกั่วป่า แต่ที่ดินดังกล่าวอยู่จังหวัดภูเก็ต 2. ตอนฟ้องหน่วยงานรัฐครั้งแรก (ขณะนั้นอ้างใบ ภบท. 5 จ่ายค่าภาษีบำรุงท้องที่ปี 2545 - 2548 อ้างว่าใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง แต่สัมปทานขาดตั้งแต้ปี 2534 แล้ว เหตุใดจากปี 2535 - 2544 ถึงไม่มีการจ่ายภาษี ค่าภาษีบำรุงท้องที่ และผู้ที่จ่ายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ 3. โจทก์เองยังไม่รู้ และไม่สามารถระบุพื้นที่แนวเขตของตัวเองได้ จึงใช้วิธีฟ้องมั่ว มีผู้ถูกฟ้องจำนวนมากที่ไม่ได้อาศัยในพื้นที่โดนออกหมายสุดท้ายใช้กลอุบายจากทีมทนายหลอกชาวบ้านให้ชี้เขตแนวชุมชน นำไปสร้างเป็นหลักฐานว่าเป็นเขตพื้นที่ของโจทก์ เนื่องจากชาวบ้านไม่รู้เรื่องภาษากฎหมาย นำชี้ให้ที่ดินมากกว่า 300 ไร่ ซึ่งก่อนหน้าโจทก์เคยอ้างว่าพื้นที่ทั้งหมดมี 287 ไร่ 4. ชาวบ้านโดนฟ้องแล้วประมาณครึ่งต่อครึ่ง กับที่ยังไม่โดนฟ้องซึ่งอยู่ในที่เดียวกัน และบางรายที่ยอมความเพราะไม่มีปัญญาต่อสู้คดีไว้ ไม่มีเงินจ้างทนาย ไม่สามารถนำหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งไปสู้ได้ ซึ่งพวกตนอยู่มานานแล้วแบบช่วยเหลือตัวเองกันมา เป็นชาวบ้านธรรมดา หาเช้ากินค่ำ ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย จึงขอให้ กมธ. ช่วยแก้ไขปัญหาโดยด่วน ก่อนที่ชาวบ้านในชุมชนประชาสามัคคีจะไม่มีที่อยู่
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล กล่าวหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ. และจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อพิสูจน์สิทธิ์และคืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน |