วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะ กมธ. การศึกษา และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะ กมธ. ซึ่งในวันนี้คณะ กมธ. ได้มีการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติที่สภาฯ มอบให้ศึกษา คือ ญัตติเรื่องเด็กไร้สัญชาติกับเด็กที่ไม่มีทะเบียนบ้าน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณากรอบแนวทางการจัดการศึกษา สำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งคณะ กมธ.ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนามนุษย์และความสำคัญของมนุษยธรรมในการดูแลประชาชนเยาวชนหรือพลเมืองของโลกอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ข้อสรุปของคณะ กมธ. คือ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลว่ามีความเห็นกับเรื่องนี้โดยอาจจะเชิญรองนายกรัฐมนตรีผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ตลอดจน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาพูดคุยให้ความเห็น หลักสำคัญคือ นอกจากเด็กต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไม่มีเอกสารในทะเบียนราษฎรแล้วยังมีเด็กไทยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีทะเบียนบ้านด้วยความยากจน ความเป็นเด็กเร่ร่อน ฉะนั้น เมื่อศึกษาเรื่องนี้แล้วคณะ กมธ. จะทำให้ครบกระบวนการ คือนำเด็กที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาใช้แรงงานและเด็กไทยเร่ร่อนมาสำรวจใหม่
ประเด็นต่อมา คณะ กมธ. จะตั้งคณะทำงานเพื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษา แต่ว่าพ.ร.บ. ฉบับนี้ตกไป เนื่องจากปัญหาความไม่เข้าใจของแต่ละฝ่ายโดยคณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ประสานงานทุกพรรคการเมือง เพื่อยกร่างกฎหมายสำคัญฉบับนี้ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างและพัฒนาคน ให้เป็นเรื่องที่ปลอดภัยจากการเมือง โดยเบื้องต้นทุกพรรึการเมืองได้ส่งตัวแทนมาเป็นคณะทำงาน และคณะทำงานชุดนี้มีเป้าหมายคือแสวงหาความร่วมมือ การมีส่วนร่วม ด้วยการรับฟังความคิดเห็นและกำหนดทิศทางการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ และทำให้สำเร็จในสภาสมัยนี้โดยจะทำงานร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งภาคเอกชน ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาชนสถาบัน การศึกษาเพื่อนำร่างพระราชบัญญัติเดิมที่ตกไปในสมัยที่แล้วมาแก้ไขปรับปรุงเพื่อยกร่าง ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งอำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจของประชาชน หากเราได้กฎหมายที่มาจากประชาชนโดยแท้ ก็จะให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น หวังว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะร่วมมือกันทำกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่พัฒนาคนในชาติให้สำเร็จโดยเร็วด้วยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย
ด้าน น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม ในฐานะคณะทำงาน กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาฯ เป็นเรื่องสำคัญที่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการศึกษาครูอาจารย์ ผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจ วันนี้ถือเป็นมิติใหม่ในทางนิติบัญญัติที่เราจะรวมทุกพรรคที่เกี่ยวข้องและเห็นว่าวาระการศึกษาเป็นวาระที่สำคัญที่สุดถึงแม้พรรคต่าง ๆ มีจุดยืนของตัวเองแต่สุดท้ายแล้วยังมีจุดร่วมที่จะให้ประชาชนเรื่องปฏิรูปการศึกษาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับโลกที่เป็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมโดยการกระจายอำนาจถือเป็นหัวใจสำคัญรวมกับการศึกษาที่ถูกออกแบบใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นอะไรใหม่ ๆ ทำให้สามารถช่วยย่นระยะเวลา ทำให้เกินการประหยัดทั้งในเรื่องทรัพยากรและงบประมาณ ทำให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ได้จากความรู้ที่มีอยู่ทั่วโลกและปรับเปลี่ยนโดยรวดเร็ว โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนแล้วนำมาใส่ไว้ในทุกมาตรา ทุกหมวดหมู่ในสาระบัญญัติที่จำเป็น
นายปารมี ไวจงเจริญ ที่ปรึกษาคณะ กมธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยหลักการส่วนตัวและหลักการของพรรคก้าวไกล เห็นว่าพ.ร.บ. การศึกษาฯ เป็นสารตั้งต้นของการออกจากหลุมดำทางการศึกษา ดังนั้น เราจะออกจากหลุมดำนี้ไม่ได้ หากมี พ.ร.บ. การศึกษาฯ ที่ไม่ถูกต้อง จึงจะต้องร่วมกันทุกพรรคโดยยืนยันหลักการว่า พ.ร.บ.นี้ ต้องเป็น พ.ร.บ.ที่รับฟังทุกความคิดเห็น ฟังเสียงครูตัวเล็กตัวน้อย ฟังเสียงครูในระบบ นอกระบบ และฟังเสียงนักเรียนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยึดหลักการกระจายอำนาจ ลดความใหญ่โตเทอะทะของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะแสวงหาความร่วมมือในการกระจายอำนาจลดความใหญ่โตของกระทรวงในคณะทำงานนี้ให้ได้
จากนั้น น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวราปกรณ์ โฆษกคณะ กมธ. กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องจากศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกีฬาฟุตบอลประเพณีที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานระหว่างโรงเรียนเก่าแก่ 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในอดีตกิจกรรมนี้ช่วยสร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีให้กับนักเรียนจากโรงเรียนเหล่านี้มาหลายต่อหลายรุ่นรวมถึงการแปรอักษรเป็นที่จับตามองของสังคมเสมอมา และในระยะหลังได้มีทั้งนักเรียนปัจจุบันและศิษย์เก่าบางท่านได้ร้องเรียนเข้ามาในคณะ กมธ. และมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง เช่น การขยายงบประมาณการขยายระยะเวลาการเตรียมกิจกรรม มีการปรับเวลาเรียนลง เพื่อให้มาเรียนวิชาชุมนุมกิจกรรมจตุรมิตรโดยให้นักเรียนลงชื่อเพื่อที่จะได้ผ่านวิชาชุมนุม การแปรอักษรติดต่อกันหลายชั่วโมงมีการต่อเติมเสริมเก้าอี้นั่งทำให้เกิดความแออัด สิ่งเหล่านี้คณะ กมธ. มีความเป็นห่วง เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งกลุ่มที่ต้องการสืบสานประเพณีอยากสนับสนุนกิจกรรมนี้ต่อไปเพราะเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์สร้างเสริมความสามัคคีแต่ยังเข้าใจมุมมองที่ความห่วงใยสวัสดิภาพของเด็กเช่นกันดังนั้นคณะ กมธ. จะเปิดพื้นที่ให้นักเรียนปัจจุบันศิษย์เก่าต่าง ๆ ได้บอกเล่าปัญหาให้ทราบและจะประสานหน่วยงานที่มีความรู้ด้านนี้ และหน่วยงานที่จัดการต่างๆรวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน รับฟังและหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการบังคับและทำให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความสามัคคีโดยมีความสมัครใจและมีความงดงามในความทรงจำของคนทุกรุ่น
จากนั้นนายโสภณ ซารัมย์ รับยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โดยกล่าวว่าปัจจุบันนี้ต้องเปิดเวทีให้เด็กมีพื้นที่ในการทำกิจกรรม แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามา คณะ กมธ. ก็จะพิจารณาตามหลักการโดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจง สำหรับกรณีนี้เมื่อมีปัญหาแล้วก็ต้องแก้ไขทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้ขัดข้องการจัดกิจกรรมการแสดงออกของเด็ก เพียงแต่ว่าบางกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องนำไปปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมถูกต้องกับสถานการณ์ช่วงเวลาในการพัฒนากระแสโลก เรื่องใดที่สร้างความลำบากทางกายภาพก็ต้องลดลง เรื่องนี้จะได้เรียกทั้งสองฝ่ายเข้ามาชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปปรับปรุงแก้ไขในการจัดกิจกรรมในอนาคตต่อไป |