วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.15 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สส.สมุทรสงคราม พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือจาก นายจำเนียร จินดาโชติ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เรื่อง ความเดือนร้อนและขอความอนุเคราะห์ติดตามการดำเนินงาน ปัญหาสารเคมีรั่วซึมสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโรงงานอุตสาหกรรมบริษัท แวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิลเซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมบริษัท แวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิลเซ็นเตอร์ จำกัด ได้มีสารเคมีรั่วซึมปะปนกับน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำธรรมชาติจนชาวบ้านได้รับสารปนเปื้อนบ้างเป็นมะเร็ง บ้างแผลทางผิวหนัง อีกทั้ง ยังตกค้างไปในพืชผลทางการเกษตรในระยะรอบโรงงานกว่า 10 กิโลเมตร ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อนเสียหายมากกว่า 700 คน ประกอบกับยังไม่มีการเยียวยาใด ๆ กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลากว่า 20 ปี นอกจากนี้ กากสารเคมีอุตสาหกรรมยังมีการรั่วซึมจึงยังส่งกระทบสิ่งแวดล้อมอีกเป็นบริเวณกว้างอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการรั่วซึมและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบโรงงานที่มีจำนวนมาก จึงได้จัดทำหนังสือเพื่อขอติดตามงบประมาณสนับสนุนและเยียวยา ติดตามการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ติดตามการเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบและประเมินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมต้นน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ จึงมีความประสงค์ในการขอความอนุเคราะห์ ดังนี้ 1. ติดตามการดำเนินงานทั้งการจัดการกากเคมีอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ การยับยั้งการรั่วซึมของสารเคมี การปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำธรรมชาติ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบโดยรอบโรงงาน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเยียวยา 2. เร่งรัดกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ ซึ่งดำเนินมามากกว่า 20 ปีแล้วชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยา 3. ขอการพิจารณาสอบสวน ถึงหน่วยงานที่มีอำนาจถึงสาเหตุที่ยังไม่มีการเยียวยาชดเชยความเดือนร้อนที่เกิดขึ้นนี้ 4. เรียกเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนเพื่อมาชี้แจ้งและหารือ เพื่อชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบต่อไป
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นบทเรียนที่สำคัญในการพัฒนาของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาการจัดการขยะอุตสาหกรรม ไม่ควรก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการดำเนินการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดปัญหาที่ชาวบ้านต้องประสบมากว่า 20 ปี ซึ่งกมธ. ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้ จะทำการศึกษา โดยจะเร่งรัดทำการพิสูจน์ ตรวจสอบดูว่าความล่าช้าในการเยียวยา ฟื้นฟูนั้นอยู่ที่จุดใด สำหรับการแก้ไขการบริหารจัดการการปนเปื้อนของใต้ดิน ต้องมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และเร่งฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมให้กับคืนสู่ปกติเพื่อให้ประชาชน ซึ่งอยู่อาศัยได้มีโอกาสได้ใช้น้ำเพื่อการบริโภคอย่างปกติ ทั้งนี้ จะรีบเสนอให้ทางผู้ร้อง รวมถึงทางรัฐบาลได้รับทราบแนวทางวิธีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเร็วที่สุด |