วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายรอมฎอน ปัญจอร์ และนายเชตวัน ตือประโคน สส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... และท่าทีของนายกรัฐมนตรีต่อกรณีดังกล่าว ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายชุดแรก ๆ ที่ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 ซึ่งหัวใจสำคัญคือการพยายามเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ รวมทั้งต้องการสร้างและสถาปนาประชาธิปไตยเพื่อให้รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่เหนือกองทัพ ทำให้เรื่องความมั่นคงกระจายไปสู่หน่วยงานที่กำกับดูแลโดยพลเรือน และต้องการคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการและการดำเนินงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเปิดโอกาสในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมามีการจำกัดโอกาสในการหาข้อตกลงและจุดยืนร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน จึงเสนอให้มีการยุบ กอ.รมน. และเชื่อว่าการถกเถียงเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
โดยในช่วง 3 - 4 ปี ก่อนหน้านี้ ตนยังไม่เข้ามาเป็น สส. ได้ติดตามการทำงานของสภาฯ พบว่ามีการตรวจสอบ กอ.รมน.อย่างเข้มข้น ซึ่งกระบวนการพยายามด้อยค่าและพยายามจัดวางให้ผู้ที่คิดเห็นต่างเป็นศัตรูของหน่วยงานดังกล่าวส่งผลด้านกลับทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ รวมทั้งการปฏิบัติการด้านข่าวสารและการปฏิบัติการทางทหารที่เกี่ยวกับเด็กเป็นเรื่องใหญ่ หน่วยงานด้านความมั่นคงควรมีอำนาจที่จำกัด จึงพยายามผลักดันและพัฒนาข้อเสนอต่าง ๆ จนนำมาสู่ร่างกฎหมายฉบับนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน จึงต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเชื่อว่าการให้คำรับรองอาจไม่เกี่ยวกับท่าทีของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป และเชื่อว่า สส. หลายท่านจากฝั่งรัฐบาล รวมทั้ง สส. ที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และรับทราบถึงปัญหาภายในพื้นที่ย่อมต้องเห็นด้วยกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรองและเปิดทางให้สภาฯ ได้พิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพลเรือนไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของหน่วยงานด้านความมั่นคง
ส่วนประเด็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ปัจจุบันมีผู้เข้ามาอ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ประมาณ 250,000 คน มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นประมาณ 46,000 คน อย่างไรก็ตามมีการสะท้อนปัญหาต่อกระบวนการดังกล่าวว่าอาจจะใช้คำถามที่เข้าใจยากหรือไม่ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับเหตุผล และการให้ใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชนอาจทำให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่สบายใจ แต่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วว่าข้อมูลดังกล่าวมีการจัดเก็บแยกต่างหากและไม่มีการเปิดเผยอย่างแน่นอน โดยจุดประสงค์ที่แท้จริงของกระบวนการ ดังกล่าว คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายของ สส. ได้อีกทางหนึ่ง โดยหลังจากนี้ ตนจะทำหนังสือถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานที่รับผิดชอบระบบดังกล่าว เพื่อขอข้อมูลและคำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินงานของระบบการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นทางการ
โดยหลังจากนี้คาดการณ์ว่านายกรัฐมนตรีอาจดำเนินการได้ 3 แนวทาง คือ 1. ให้การรับรองร่าง พ.ร.บ.และส่งกลับมาให้สภาฯ พิจารณา 2. ไม่ให้การรับรอง เนื่องจากทราบมาว่า กอ.รมน. ได้ส่ง ข้อมูลและเหตุผลถึงการไม่ควรยุบ กอ.รมน.ต่อนายกรัฐมนตรี 3. การปล่อยเกียร์ว่าง เนื่องจากไม่มีการระบุระยะเวลาว่านายกรัฐมนตรีจะต้องส่งผลการรับรองกลับมาเมื่อใด นอกจากนี้ ตนขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงมีแนวทางการดำเนินการเบื้องต้น 2 แนวทาง คือ 1. เสนอเข้าไปพิจารณาในคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 2. รณรงค์การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนต่อไป
นายเชตวัน ตือประโคน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง และรมว.กลาโหมนั้น แสดงให้เห็นว่านี่จะเป็นอีกครั้งที่ กอ.รมน. จะเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น หลังจากมีกฎหมายรับรอง และคำสั่งคสช. 51/2560 รวมทั้ง รมว.กลาโหมเองก็ยอมรับว่ากองทัพมีการใช้ปฏิบัติการ IO และการที่นายกรัฐกล่าวถึงการเพิ่มบทบาทในหลายมิติ ทั้งการวางรากฐาน สร้างความพร้อมให้กับประเทศรวมถึงความมั่นคงในชีวิตและเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพลเรือนไม่ได้มีอำนาจเหนือกองทัพ และไม่ใช่แนวทางการทำให้กองทัพกลับไปมีบทบาทและหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับเป็นการเปิดโอกาสให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
|