วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย โฆษกคณะ กมธ. และคณะ แถลงข่าวสรุปผลการประชุมคณะ กมธ. ว่า ที่ประชุมได้นำประเด็นปัญหาสำคัญของพี่น้องเกษตรกรเข้ามาหารือในการประชุม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยคณะ กมธ. ชุดนี้จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากกับเกษตรกรมาแก้ไขในระดับเชิงโครงสร้าง และจะเป็นเพื่อนคู่คิดเป็นมิตรที่เคียงข้างเกษตรกร ทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร
โดยนายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย กล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ 18 ต.ค. 66 คณะกมธ. ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณามาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยเชิญกรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมประชุม ซึ่งสรุปสาระของการหารือได้ ดังนี้ มาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กรมการค้าภายในให้ข้อมูลว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการเช่าชุดใหม่ต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมได้สิ้นสุดวาระ ทำให้การพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงยังอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เสนอต่อคณะกรรมการชุดใหม่ อาทิ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งคณะ กมธ. มีข้อสังเกตดังนี้ 1. คณะ กมธ. เห็นด้วยกับแนวทางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของกรมการค้าภายใน รวมทั้งควรพิจารณาแนวทางสนับสนุนสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการเก็บสต๊อกในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสารสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. กรมการค้าภายในควรเร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
3. ภาครัฐควรกำหนดมาตรการรองรับที่ทันท่วงทีกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลถึงผลข้าวที่ลดลงทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น เช่น ปรากฏการณ์เอลนิญโญที่ส่งผลให้เกิดภัยแล้งทำให้เกษตรกรปลูกข้าวไม่ได้ และประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ เช่น อินเดียห้ามการส่งออก
4. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ควรส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับเกษตรกร สอดคล้องกับสภาพในแต่ละพื้นที่การเพาะปลูกโดยเฉพาะเรื่องการใช้ปุ๋ย โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการเพาะปลูก รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
และในวันนี้ (25 ต.ค. 66) ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์ผิดกฎหมาย โดยเชิญกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และกรมการค้าภายใน เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อสัตว์ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากประเทศต่าง ๆ อาทิ บราซิล อิตาลี รัสเซีย สเปน และเยอรมนี และการลักลอบนำเข้าในลักษณะกองทัพทยอยนำเข้าโดยแฝงมากับสินค้าชนิดอื่น และสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล หรือวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ โดยไม่ได้สำแดงเป็นสินค้าปศุสัตว์ตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เนื้อสัตว์ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศดังกล่าว เนื่องจากต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของพืชอาหารสัตว์ที่ในประเทศไทยมีราคาค่อนข้างสูง รวมถึงสาเหตุจากมาตรการนำเข้า - ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์เปิดอย่างเสรี ไม่ถูกกีดกันทางกฎหมาย จึงเป็นสาเหตุทำให้มีการลักลอบตามแนวชายแดนจังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมศุลกากร กระทรวงกลาโหม ตำรวจตระเวนชายแดน ในการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์ เน้นย้ำเรื่องการปราบปรามเนื้อเถื่อน และให้ด่านกักกันสัตว์ชายแดนยกระดับเข้มงวดเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนทางช่องทางธรรมชาติ ท่าประเพณี และช่องทางถาวร รวมถึงขอความร่วมมือกับด่านศุลกากรในการเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบน้ำเข้าสัตว์ ซากสัตว์ทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรได้ใช้เทคโนโลยีหรือระบบเอ็กซเรย์ในการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าทั้งหมดก่อนปล่อยสินค้าออก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมาย สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านกลไกตลาดเนื้อสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อสัตว์ผิดกฎหมาย กรมการค้าภายในได้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2552 โดยให้ผู้ประกอบการแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บสถานที่เลี้ยง และจัดทำบัญชีคุมสินค้า เพื่อควบคุมดูแลปริมาณสุกรและเนื้อสุกรให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งคณะ กมธ. มีข้อสังเกต ดังนี้ 1. กรมปศุสัตว์ ต้องมีแนวทางและมาตรการลดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามาแข่งขันในตลาดภายในประเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวทางการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด จากต่างประเทศเกือบร้อยละ 100 ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายเนื้อสัตว์ได้ในราคาที่เหมาะสม และลดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่า 2. กรมปศุสัตว์ ควรส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ตลอดจนการให้ความรู้และช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องโรคระบาดสัตว์ 3. กรมปศุสัตว์ ควรพิจารณามาตรการอื่นที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อเป็นช่องทางเลือกในการทำลายเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายที่จับกุมได้ อาทิ การนำไปให้กับผู้สูงอายุหรือโรงเรียน เพื่อใช้ในการประกอบอาหาร 4. กรมศุลกากร ต้องเข้มงวดการตรวจจับเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายและสินค้าทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องและจริงจังอย่างน้อย 6 ปี โดยเฉพาะการเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด และเข้มงวดในการตรวจปล่อยสินค้า โดยไม่มีการผ่อนปรนให้กับผู้กระทำความผิด และต้องบูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการตรวจสอบจับกุมทำลายอย่างรัดกุม และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด อีกทั้ง ขยายผลการกระทำความผิดให้ถึงผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด เพื่อตัดวงจรขบวนการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ 5. กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรต้องยกระดับการป้องกันและปราบปรามและปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบการกระทำความผิดให้ทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งควรเพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอโดยเฉพาะในการตรวจจับและปราบปรามการทำความผิดตามแนวเขตชายแดน 6. กรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บข้อมูลผู้ประกอบการที่ครอบครองเนื้อสัตว์ และปริมาณเนื้อสัตว์ และการเข้าตรวจสอบการเก็บเนื้อสัตว์ในห้องเย็น ต้องบูรณาการร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดในการเข้าตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อกวาดล้างการนำเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเข้ามาเก็บรักษาไว้ในห้องเย็น 7. กรมการค้าภายในต้องตรวจสอบการจำหน่ายเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกรราคาถูกเกินจริง และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงอันตรายจากสารต่าง ๆ ที่จะติดมากับเนื้อสัตว์เถื่อนซึ่งไม่ได้ตรวจมาตรฐาน และต้องต่อต้านการซื้อเนื้อสัตว์เถื่อนดังกล่าว 8. รัฐบาล ควรมุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินโครงการท่าเรือสีขาว เพื่อให้การตรวจสอบสินค้าต้องห้ามนำเข้าเกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบตู้สินค้าตกค้างภายในพื้นที่ท่าเรือ รวมทั้งสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถการดำเนินการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์
|