|
|
วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 16.45 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายดูแวดานียา ดูแวแมแง ผู้ประสานงานคณะสันติภาพภาคประชาชน และคณะ เรื่อง ขอให้กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริม กระบวนการสร้างสันติภาพฯ บรรจุเรื่อง การออกพระราชบัญญัติการสร้างสันติภาพ พ.ศ. .... เพื่อศึกษาและพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป
ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินการเหตุความขัดแย้งระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยขบวนการ BRN ได้ปฏิบัติการปล้นปืนอาวุธสงคราม ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้อาวุธปืนไปทั้งหมด 413 กระบอกนั้น ปีนี้ก็เป็นปีที่ 19 แล้ว ที่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ บรรดาเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ บุคลากรครู และเหล่าทหารเกณฑ์ที่เป็นลูกหลานของประชาชน นอกพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ และทุกภูมิภาคต่างต้องสังเวยชีวิตตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ตัวเลขสถิติของการเสียชีวิตอยู่ที่จำนวน 7,520 คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมากผ่านรัฐบาลในจำนวน 7 รัฐบาล นายกรัฐมนตรี 7 คน ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไปทั้งสิ้นเป็นจำนวน 492,451.43 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระบวนการสันติภาพที่ให้ทางผู้นำโดยตรงของ BRN ซึ่งอยู่ในทางลับมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับทางภาครัฐจนกล้าตัดสินใจเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพที่ทางรัฐบาลได้นำเสนอรองรับไว้อย่างให้เกียรติ ซึ่งไม่เหมือนกับบริบทสภาพของความขัดแย้งในต่างประเทศและไม่เหมือนกับกระบวนการที่เคยดำเนินการมาในรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา ด้วยการเริ่มต้นขั้นตอนแรกของกระบวนการสันติภาพคือดำเนินการในด้านความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านให้กับบรรดาผู้นำโดยตรงของ BRN ที่อยู่ในทางลับ เพื่อที่เขาจะได้มีสถานะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยในทางกฎหมายและเป็นที่ยอมรับตัวตนของพวกเขาจากภาครัฐ และจากนั้นก็จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนถัดไปที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลของกระบวนการสันติภาพ นี่คือกระบวนการสันติภาพแบบพิเศษที่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของคู่กรณีความขัดแย้งของรัฐบาลที่มีสถานะความเป็นองค์กรลับ ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลเห็นชอบให้มีพระราชบัญญัติกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ตามหลักการและเหตุผลข้างต้นนั้น ประเทศไทยจะได้ประกาศถึงเจตจำนงสันติภาพชายแดนใต้ให้ประชาคมโลกได้รู้อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นก้าวแรกของเส้นทางสู่สันติภาพชายแดนใต้ที่ยั่งยืน มั่นคงต่อไป
นายกัณวีร์ สืบแสง กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริม กระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่งในวันนี้ (18 ต.ค. 66) มีการประชุมคณะ กมธ.เป็นครั้งแรก
|
|
|
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
|
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า |
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562
|
|
|
|
|
|
|