วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับยื่นหนังสือจาก นายอัครินทร์ ต้นน้ำเพชร ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินคดี บ้านบางกลอย เรื่อง ขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาคดีความของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีดังกล่าว ดังนี้
1. ในชั้นพนักงานสอบสวนการดำเนินคดี ปรากฏว่าในการจัดทำบันทึกการจับกุมและสอบสวนคำให้การ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 แม้จะมีล่ามและทนายความที่พนักงานสอบสวนจัดหามาก็ตาม แต่ปรากว่าพวกเราไม่สามารถเข้าใจถึงกระบวนการดังกล่าว และล่ามไม่ได้แปลให้เข้าใจ ทั้งที่พวกเราตั้งใจให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่กลับเป็นว่าในบันทึกการจับกุมได้มีการเขียนด้วยลายมือว่าให้การรับสารภาพ ซึ่งไม่เป็นความจริง และขณะที่มีการลงลายมือชื่อและลายนิ้วมือก็ไม่มีข้อความที่เขียนดังกล่าวปรากฏอยู่ในบันทึกการจับกุมแต่อย่างใด นอกจากนี้ เมื่อทนายความ ล่าม และผู้ได้รับความไว้วางใจจากพวกเราพยายามขอเข้ารับฟังการสอบสวนก็ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นกระบวนการในชั้นสอบสวนจึงไม่น่าชอบด้วยกฎหมาย

2. ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เมื่อพนักงานสอบสวนได้เรียกให้พวกเราเข้ารับแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม พวกเราจึงยื่นคำให้การเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขคำให้การที่ระบุว่ารับสารภาพเป็นให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ให้การเพิ่มเติมเพื่อได้เห็นถึงพฤติการณ์และเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับคดี

3. ในการดำเนินคดีนี้ปรากฏว่าในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่มีการจับกุมพวกเรานั้น ได้มีการจับตัวเยาวชนมาพร้อมกับผู้ใหญ่ด้วย และได้มีการดำเนินการทำบันทึกจับกุมสอบสวนโดยมิได้มีดำเนินการกระบวนการตามกฎหมายเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด โดยในบันทึกระบุว่าอายุ 23 ปี ไม่มีการขอตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้เยาวชนนั้นถูกสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังถูกนำตัวไปขังไว้ในเรือนจำ
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าว พวกเราจึงเห็นว่าการดำเนินการของพนักงานสอบสวนไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พวกเรา โดยที่พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ได้บัญญัติว่า
“พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริต ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ. (คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ)”
ประกอบกับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554 ได้กำหนดให้อำนาจอัยการในกรณีที่เห็นว่า คดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ โดยให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้

ด้วยข้อกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการดังกล่าว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ได้ ซึ่งจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ประกอบกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ และมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยนั้นได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เราจึงมีข้อเรียกร้องให้คณะกมธ. ดำเนินการ ดังนี้

1. เร่งรัดพิจารณาจัดทำความเห็นเพิ่มเติมไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 29 คน เพื่อให้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนและไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ทั้งนี้เพื่อขจัดภาระทางคดีของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน และเปิดทางสู่การแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินของชาวบางกลอยต่อไป

2. ขอให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

นายอภิชาติ ศิริสุนทร กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกมธ.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อนำแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชาวบางกลอยต่อไป ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 คณะกมธ. ที่ดิน  มีตนเป็นประธานคณะ กมธ. ได้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด  และมีข้อเสนอแนะไปยังรับบาลชุดที่แล้ว ไปแล้ว แต่ชาวบ้านบางกลอยยังได้รับความเดือดร้อนอยู่มาก ดังนั้น คณะกมธ.ที่ดินชุดนี้ จะนำเข้าที่ประชุมคณะกมธ. พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาปัญหานี้อย่างรอบคอบ และจะลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและจะได้นำข้อเสนอแนะเสนอรัฐบาลชุดปัจจุบัน

download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562