วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.พรรคก้าวไกล และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นางสุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน เรื่อง ขอให้อภิปรายเกี่ยวกับนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่และโอกาสต่อไป ด้วยคณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 342 องค์กร ทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการดูแลเพื่อส่งเสริมให้มีการดูแลเด็กเล็กให้ดีขึ้นจากการสำรวจสถานการณ์เด็กปฐมวัยทั่วประเทศ จากคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ที่มีอยู่ทุกภูมิภาค และจากงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ และได้นำเสนอต่อทุกพรรคการเมือง เมื่อก่อนการเลือกตั้ง โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ จนถึงอายุ 6 ปี คนละ 3,000 บาท/เดือน 2. ขยายสิทธิลาคลอด เป็น 180 วัน เพิ่มระยะให้แม่และพ่อได้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด และเชื่อมต่อไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน 3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน รับช่วงต่อจากพ่อแม่ที่ลามาเลี้ยงดูลูกได้ 180 วัน มีความหลากหลาย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ทำงาน 4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีจำนวนมากพอ กระจายตัวใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หลากหลายรูปแบบ และมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึง เพื่อได้รับการดูแลพัฒนา ในด้านโภชนาการ การเรียนรู้อย่างสมวัย ยืดหยุ่นเวลา เปิด - ปิด สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ทำงาน 5. รัฐบาล และหน่วยงานที่จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้การสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรโดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียน ให้สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐาน เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่บริหารจัดการเองโดยชุมชน
ดังนั้น จึงขอให้พรรคก้าวไกล นำข้อเสนอของคณะทำงานไปผลักดันและอภิปรายในรัฐสภาเพื่อให้รัฐบาลมีนโยบายดูแลเด็กเล็กทุกคนอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ตามการรับรองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้หลายฉบับ เพื่อเป็นการคุ้มครองทางสังคมต่อเด็กทุกคนในสังคมไทยต่อไป
นายชัยธวัช ตุลาธน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายในการผลักดันเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็กไปในทิศทางเดียวกันและเน้นถึงสภาพความเป็นอยู่ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลก็ได้กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุ ในแง่สวัสดิการ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในวัยทำงานได้ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบให้คนวัยทำงานต้องแบกรับภาระที่จะดูแลบิดามารดาและบุตร ดังนั้น รัฐบาลจะต้องออกแบบนโยบายในการมีบุตร เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้คนมีบุตรเพิ่มมากขึ้น
ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กล่าวว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจากการศึกษานโยบายแล้วพบว่า เหมือนกับรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเด็กเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะดีเพียงใด หากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่เป็นไปตามแผนงานจะทำให้เกิดวิกฤตได้ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำทำให้ในอนาคตขาดอัตราแรงงานไปด้วย
|