วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และคณะ รับยื่นหนังสือ จาก นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และคณะ 47 องค์กรเครือข่ายสถานะบุคคล จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก อุบลราชธานี ชุมพรและภาคตะวันตก เรื่อง ข้อเสนอการแก้ปัญหาสถานะบุคคล
โดยเครือข่ายสถานะบุคคล (คสบ.) เป็นการรวมตัวกันขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาที่ทำงานด้านสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน คนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อส่งเสริมการจัดการปัญหาสถานะบุคคลและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภาคีเครือข่ายได้สรุปปัญหา ดังต่อไปนี้ 1. เด็กนักเรียนรหัส G คือเด็กนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก มีจำนวน 112,851คน ซึ่งการจัดทำทะเบียนประวัติ และการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักให้เด็กนักเรียนรหัส G ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีการศึกษานั้นได้ ทำให้จำนวนนักเรียนรหัส G คงค้างในระบบ และสะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อเปิดการปีการศึกษาใหม่ ระบบก็จะปรับข้อมูลนักเรียนรหัส G ใหม่ สำนักทะเบียนก็จะยึดตามบัญชีรายชื่อใหม่ บัญชีรายชื่อเดิมไม่มีผลอีกต่อไป ทำให้นักเรียนตกหล่น และไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติเป็นจำนวนมาก และการย้ายหรือจบการศึกษาจากโรงเรียนเดิมไปโรงเรียนใหม่ ไม่มีระบบเชื่อมต่อข้อมูลให้สำนักทะเบียน ทำให้เด็กตัว G ไม่มีตัวตน ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับการศึกษาตามระบบ 2. คนไม่มีสถานะ หรือคนไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลได้ รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล การประกอบอาชีพ ไม่มีใบอนุญาตใดๆทั้งสิ้น ชีวิตต้องอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัว จะถูกจับ ถูกดำเนินคดี ทำให้ต้องทำทุกวิถีทางที่จะเอาชีวิตรอดให้ปลอดภัย 3. สิทธิทางการศึกษาภิกษุสามเณร ไม่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ที่ไม่มีความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป จึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสถานะบุคคลจากพื้นที่ ดังนี้ 1. ขอให้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน ที่มีปัญหาสถานะบุคคล โดยไม่เลือกว่าเป็นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด ให้มีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างมีเหตุผลและ มโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ขอให้รัฐมีนโยบายการจัดทำทะเบียนประวัติ โดยจำแนกกลุ่มบุคคล เป็นกลุ่มในการจัดทะเบียนประวัติ กำหนดเลขสำหรับกลุ่ม ลูกหลานแรงงาน ผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพ เด็กข้ามแดน และเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อป้องกัน ปัญหาการคัดแยกบุคคลแต่ละประเภท และนำไปสู่การกระทำความผิดและการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบ 3. ขอให้รัฐมีการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับเด็กนักเรียนรหัส G ต้องกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมือนกันทั้งประเทศ 4. ขอให้รัฐทบทวนเรื่องโครงสร้าง ระบบการบริหาร และงบประมาณ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ล่าช้า และทำให้เป็นช่องโหว่ของการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 5. ขอให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้สามเณรในระดับประถมศึกษา โดยแก้ไขระเบียบการจัดการศึกษาของโรงเรียนในพระปริย์ติธรรม และหาแนวทางการจัดการศึกษาก่อนการแก้ไขระเบียบกฎหมาย
ด้านนายเล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาของเด็กไร้สัญชาติมีปัญหา 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรอพิสูจน์สัญชาติ จำนวนประมาณ 100,000 คน และเด็กที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ประมาณ 200,000 คน พรรคก้าวไกล จะยื่นญัตติ ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวภายหลังการรับยื่นข้อเสนอดังกล่าวว่า ตนในฐานะผู้แทนของประธานรัฐสภา จะนำเรื่องดังกล่าวมาทำการศึกษาให้ละเอียด รอบคอบ และจะเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา สถานะบุคคล ต่อไป หากมีความคืบหน้าเป็นประการใด จะได้แจ้งให้ทางเครือข่ายทราบต่อไป
|