null

 


การประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ 9 >> ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
 
 
รัฐสภาไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๙
ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ    
 
          สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก หรือ World Scout Parliamentary Union (WSPU) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่รวมสมาชิกรัฐสภาที่สนใจในกิจการลูกเสือจากทั่วโลก ก่อตั้งโดย นาย Kim Chong-Hon ประธานสมาคมลูกเสือรัฐสภาเกาหลี เมื่อปี ๒๕๓๔ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน ๑๐๐ ประเทศ โดยนาง Ewa Thalen Finne สมาชิกรัฐสภาสวีเดน ดำรงตำแหน่งประธาน WSPU นายธำรง ทัศนาญชลี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งรองประธาน คนที่ ๑ และนาย Lee Ju Young สมาชิกรัฐสภาเกาหลี ดำรงตำแหน่งรองประธาน คนที่ ๒ ซึ่งเริ่มมีการประชุมตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ และ มีการประชุมสมัชชาใหญ่มาแล้วจำนวน ๘ ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม - ๒ กันยายน ๒๕๕๙ ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน

          สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก หรือ WSPU ประกอบด้วย องค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

          ๑. สมัชชาใหญ่ (General Assembly) เป็นหน่วยงานสูงสุด มีหน้าที่เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารและพิจารณาเรื่องต่าง ๆ โดยจะจัดการประชุมทุก ๆ ๓ ปี 

          ๒. คณะกรรมาธิการบริหาร (Executive Committee) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕ – ๑๒ คน มาจากการเลือกตั้งของสมัชชาใหญ่ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี และมีการประชุมปีละ ๑ ครั้ง เพื่อวางแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายของสมัชชา โดยสำนักงานเลขาธิการ WSPU ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ เดิมตั้งอยู่ ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ ปัจจุบันย้ายมาตั้ง ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อปี ๒๕๕๓

          การจัดตั้ง WSPU มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสมาคมลูกเสือแห่งชาติ (National Scout Organization) ในฐานะองค์กรลูกเสือในระดับประเทศ และสมาคมลูกเสือโลก (World Scouting) ในฐานะองค์กรลูกเสือระดับโลก โดยผ่านช่องทางของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงกระตุ้นการรวมตัวกันของสมาคมลูกเสือรัฐสภาแห่งชาติ (National Scout Parliament Association – NSPA) ในกิจการลูกเสือระดับรัฐสภา ภายใต้แนวคิดที่ว่ากิจการลูกเสือเป็นวิธีการและการเคลื่อนไหวทางการศึกษาในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการที่มีประสิทธิภาพ  ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศสมาชิกรัฐสภา ในการสนับสนุนกิจกรรมด้านต่าง ๆ ขององค์กรลูกเสือโลก โดยมีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมลูกเสือรัฐสภาแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับองค์การลูกเสือโลก และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ในการดำเนินกิจการลูกเสือภายในประเทศ  ซึ่ง WSPU ได้รับสถานภาพเป็นผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภา (IPU) ตั้งแต่ครั้งที่ ๑๒๖ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๕ ณ กรุงกัมปาลา สาธารณรัฐยูกันดา 
          WSPU ได้เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน มีการกระตุ้นการรวมตัวกันของสมาคมลูกเสือรัฐสภาแห่งชาติ ซึ่งเป็นสมาคมที่ขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งในการสนับสนุนให้เกิดการริเริ่มกิจการลูกเสือในระดับรัฐสภาของแต่ละประเทศ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนและชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัย ทั้งนี้ WSPU จะเป็นองค์การระหว่างประเทศของสมาชิกรัฐสภาอีกองค์กรหนึ่งที่เป็นเวทีระหว่างประเทศ เพื่อการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาจากทั่วโลก นอกเหนือจากสหภาพรัฐสภาที่ได้จัดตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๔๓๒ และปัจจุบันได้รับการยอมรับจากสมัชชาสหประชาชาติว่าเป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศที่สนับสนุนการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ    
 
          ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารและการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งล่าสุด ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร (The Executive Committee Meeting) และการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๙ (The 9th General Assembly of the World Scout Parliamentary Union - WSPU) โดยได้มีการหารือระหว่างคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๙  ประกอบด้วย สำนักงานเลขาธิการลูกเสือรัฐสภาโลก (Secretariat of World Scout Parliamentary Union - WSPU) สำนักงานเลขาธิการลูกเสือรัฐสภาเกาหลี (Secretariat of Korea Scout Parliamentary Association - KSPA)  สำนักงานสมาคมลูกเสือเกาหลีและกิจการการประชุม (Secretariat of Korea Scout Association (KSA) and Business Meeting)  คณะกรรมการอำนวยการจัดงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ ๒๕ (The 25th World Scout Jamboree (WSJ) Committee) และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้หารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเตรียมการจัดการประชุม อาทิ สถานที่จัดการประชุม ระยะเวลาที่เหมาะสม จำนวนผู้เข้าร่วมการประชุม หัวข้อหลัก และหัวข้อรองสำหรับการอภิปรายร่วมกัน เพื่อให้การเตรียมการจัดประชุมฯ ดังกล่าว มีประสิทธิภาพสูงสุด และสมประโยชน์ของชาติ   

          สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ดำเนินการเตรียมการในเรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๙ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๙ ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ และนายธำรง ทัศนาญชลี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการ รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการด้านต่าง ๆ จำนวน ๘ คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการเตรียมการด้านสถานที่จัดการประชุม คณะอนุกรรมการเตรียมการด้านสารัตถะ คณะอนุกรรมการเตรียมการด้านการต้อนรับและอำนวยความสะดวก คณะอนุกรรมการเตรียมการด้านพิธีเปิด-ปิด และงานเลี้ยงรับรอง คณะอนุกรรมการเตรียมการด้านสารสนเทศ คณะอนุกรรมการเตรียมการด้านประชาสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการเตรียมการด้านรักษาความปลอดภัยและรักษาพยาบาล และคณะอนุกรรมการเตรียมการด้านการจัดนิทรรศการ โดยได้กำหนดจัดการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ    

          และในโอกาสที่รัฐสภาไทยจะเป็นตัวแทนของประเทศในการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารและการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๙ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมให้การต้อนรับและร่วมภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนที่จะได้มีโอกาสนำเสนอวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่เราภาคภูมิใจให้เป็นที่ประจักษ์และชื่นชมต่อชาติอื่น ๆ ทั่วโลก
 
 
 

*****************************   
       

ที่มา : สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ
www.parliament.go.th

 
 


สงวนลิขสิทธิ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
1111 ถ. สามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หมายเลขโทรศัพท์ 02 242 5900 ต่อ 5601
(สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 5661 (สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 7301 (สำนักภาษาต่างประเทศ ชั้น 3 )

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

วันที่เริ่มเผยแพร่ 5 กันยายน 2559