|
ปฏิทินกิจกรรม |
« |
พฤศจิกายน 2567 |
» |
อา. |
จ. |
อ. |
พ. |
พฤ. |
ศ. |
ส. |
| | | | |
1 |
2 |
3 |
4 |
5 |
6 |
7 |
8 |
9 |
10 |
11 |
12 |
13 |
14 |
15 |
16 |
17 |
18 |
19 |
20 |
21 |
22 |
23 |
24 |
25 |
26 |
27 |
28 |
29 |
30 | |
|
|
|
|
|
|
ดูปฏิทินทั้งหมด |
|
|
|
|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสำนักงานฯ |
คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 ณ กรุงคิกาลี สาธารณรัฐรวันดา เป็นวันที่ห้า
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 15 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565
|
คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 ณ กรุงคิกาลี สาธารณรัฐรวันดา เป็นวันที่ห้า
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 65 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย 1) ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย 2) ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา 4) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ 5) น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 145th IPU Assembly and related meetings) ณ ศูนย์การประชุมคิกาลี (Kigali Convention Centre : KCC) กรุงคิกาลี สาธารณรัฐรวันดา เป็นวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ดังนี้ 1. เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกมธ.สหภาพรัฐสภาสตรี (โดยตำแหน่ง) เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ.สหภาพรัฐสภาสตรี (Bureau of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 48 เป็นวันสุดท้าย โดยที่ประชุมได้อภิปรายเพื่อสรุปการประเมินผลของการประชุมต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมศึกษาดูงานที่จัดโดยคณะ กมธ.สหภาพรัฐสภาสตรีในห้วงการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 145 ผ่านมุมมองสตรี รวมถึงพิจารณาแผนงานในอนาคต ในการนี้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ได้นำเสนอให้ที่ประชุมรับทราบว่า รัฐสภาไทยมีการจัดตั้งชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นสตรี โดยมีตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารชมรมจำนวน 19 คน ผลงานที่ผ่านมาของชมรมฯ ได้แก่ การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา โดยชมรมฯ มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมไปได้ไกลกว่านี้ หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังการบรรยายสรุปจาก 1) องค์กรหุ้นส่วนสำหรับสุขภาพมารดา ทารก และสุขภาพเด็ก (PMNCH) ในหัวข้อ ประสบการณ์รัฐสภาในการส่งเสริมสุขภาพของสตรี เด็ก และวัยรุ่น ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และในการฟื้นฟูจากการระบาด 2) คณะกรรมการระดับสูงแห่งกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ในการรายงานเรื่องความยุติธรรมและสิทธิด้านเพศและการอนามัยเจริญพันธุ์ และ 3) การมีส่วนร่วมของรัฐสภาและของ IPU กับคณะ กมธ. CEDAW และคณะ กมธ.ว่าด้วยสิทธิเด็ก ในตอนท้าย ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างระเบียบวาระการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 35 และการประชุมคณะ กมธ.สหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 49 ซึ่งจะมีขึ้นในห้วงการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 146 ในเดือน มี.ค. 66 2. การประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) ในวาระที่สอง ในช่วงเช้า ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในระเบียบวาระที่ยังค้างการพิจารณาต่อเนื่องจากวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 ได้แก่ ความริเริ่มโครงการนำร่องสำนักงานระดับภูมิภาคของ IPU ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทดลองจัดตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคนำร่องในระยะทดลอง 2 ปี ที่อุรุกวัย (ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน) และอียิปต์ (ภูมิภาคแอฟริกา) โดยในกรณีของอียิปต์ให้กลุ่มภูมิรัฐศาสตร์แอฟริกาได้เจรจาหารือเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้ก่อนด้วย และประเมินผลการทดลองต่อไป ต่อมาที่ประชุมได้เห็นชอบแนวนโยบายการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ IPU และประมวลจริยธรรมว่าด้วยการป้องกันการคุกคามทางเพศในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ซึ่งสอดคล้องกับประมวลจริธรรมของสหประชาชาติในเรื่องเดียวกันนี้ จากนั้น ได้รับฟังรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสหภาพรัฐสภา และการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการทำงานของสหภาพรัฐสภาร่วมกับสหประชาชาติ จากนั้น ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ได้พิจารณาคำวินิจฉัย (Decisions) ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) ต่อกรณีข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยในครั้งนี้มีกรณีที่คณะกรรมการฯ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ทั้งหมดจาก 13 ประเทศ ได้แก่ บราซิล กัมพูชา โกตดิวัวร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอริเทรีย เอสวาตินี กาบอง เมียนมา ตูนิเซีย ทูร์เคีย ยูกันดา เวเนซุเอลา และซิมบับเว ต่อมาในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้รับทราบสถานะปัจจุบันขององค์กรผู้สังเกตการณ์ถาวรของสหภาพรัฐสภา รวมถึงการยื่นขอสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรของสหภาพรัฐสภาเพิ่มเติมจากองค์กร จำนวน 4 องค์กร ตลอดจนรับทราบการรายงานสถานการณ์ของรัฐสภาสมาชิกบางประเทศ (Situation of certain parliaments) ซึ่งอยู่ระหว่างไม่มีรัฐสภาทำหน้าที่อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในวิถีประชาธิปไตย หรือรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ตามที่คณะกรรมการบริหาร IPU เสนอ รวม 18 ประเทศ ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บูกินาฟาโซ กินี-บิสเซา เมียนมา ซูดาน ตูนิเซีย กินี มาลี ไฮติ อิรัก ลิเบีย ปาเลสไตน์ เซาท์ซูดาน เวเนซุเอลา เยเมน บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ศรีลังกา และซีเรีย
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้รับฟังการรายงานจากคณะกรรมการเฉพาะด้าน (specialized bodies) ซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 8 คณะ รวมถึง คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาวิกฤตในยูเครนด้วยสันติวิธี และแผนกิจกรรมการประชุมของสหภาพรัฐสภาในอนาคต (Future IPU Meetings) ตลอดจนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อโดยประเทศสมาชิกเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ใน IPU ที่ว่างลง ตามสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา 3 ตำแหน่งจาก ฝรั่งเศส (กลุ่ม Twelve Plus) ชิลี (กลุ่ม GRULAC) และอินเดีย (กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก) ตำแหน่งที่ว่างลง 4 ตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา จาก เนเธอร์แลนด์ เคนยา ปากีสถานและแซมเบีย และผู้สอบบัญชีภายใน (internal auditor) ของ IPU รวม 2 คน จากโปรตุเกส และไนเจอร์ ในตอนท้ายของการประชุมคณะมนตรีบริหาร ที่ประชุมได้เข้าสู่พิธีการมอบรางวัลเครเมอร์-พาซี (Cremer-Passy Prize: MP of the Year Award) หรือรางวัลสมาชิกรัฐสภาแห่งปีเป็นครั้งแรกของสหภาพรัฐสภา โดยในปี 2565 นี้ ผู้รับมอบรางวัลได้แก่ Ms. Cynthia Castro Lopez สมาชิกรัฐสภาเม็กซิโก และประธานรัฐสภายูเครน พร้อมด้วยสมาชิกรัฐสภายูเครนทุกคน 3. ในช่วงเย็น ที่ประชุมเต็มคณะได้เปลี่ยนเข้าสู่การพิจารณาวาระของสมัชชา (Assembly) ซึ่งที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์คิกาลี (Kigali declaration) อันเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการอภิปรายทั่วไปของที่ประชุมสมัชชา ที่ย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้วาระความเท่าเทียมระหว่างเพศ และรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศภาวะ มีความก้าวหน้า ในโอกาสที่ปี 2565 เป็นปีแห่งการครบรอบ 10 ปีของแผน Plan of Action for Gender-sensitive parliaments ของสหภาพรัฐสภา รวมถึงได้รับฟังรายงานจากคณะ กมธ.สามัญของ IPU ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีมติโดยฉันทานุมัติรับรองร่างข้อมติฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตลอดจน มีมติรับรองหัวข้อเรื่อง Orphanage Trafficking ซึ่งจะจัดทำเป็นร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญดังกล่าว เพื่อรับรองในห้วงการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 147 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส อีกด้วย
ก่อนพิธีปิดการประชุม Mr. Jamal Mohammed Fakhro รองประธานสภาที่ปรึกษาบาห์เรน (Shura Council) ได้นำเสนอคลิปวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 146 ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน ในเดือน มี.ค. 66 และได้รับฟังคำกล่าวปิดการประชุมจากประธานกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง 6 กลุ่ม ตามธรรมเนียมปฏิบัติของ IPU ในตอนท้าย ที่ประชุมได้รับฟังถ้อยแถลงปิดการประชุมของ Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ Ms. Donatille Mukabalisa ประธานสภาผู้แทนราษฎรวันดา ก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรรวันดาในฐานะประธานสมัชชาฯ จะปิดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 ลงอย่างเป็นทางการในเวลา 19.00 น. อนึ่ง หลังพิธีปิดการประชุม ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้แสดงความยินดีกับประธานสภาผู้แทนราษฎรรวันดา ในโอกาสที่รัฐสภารวันดาประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ด้วย
เครดิต : ภาพและข่าวโดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๕๐๐ email : webmaster@parliament.go.th http://www.parliament.go.th |
|
|