กลับหน้าหลัก

เมนูหลัก


 ปฏิทินกิจกรรม
« พฤศจิกายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
      1 2
3 4 5 6 7 8 9
10 11 12 13 14 15 16
17 18 19 20 21 22 23
24 25 26 27 28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด
 
                                 อ่านทั้งหมด...

วีดิทัศน์สำนักงานฯ



  • ประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ๒๕๖๔    download_icon

  • ๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา    download_icon

  • เล่าเรื่องในหลวง ร.๙ ภายใน ๒ นาที    download_icon

  • วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า    download_icon

  • สารานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ    download_icon

 แสดงทั้งหมด...

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์
FONTSIZE
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสำนักงานฯ
คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นวันที่สอง

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 15 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565

เมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย 
1) ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย 
2) ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
3) นายอนุศาสน์  สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา 
4) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
5) น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 145th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค. 65 ณ ศูนย์การประชุมคิกาลี (Kigali Convention Centre : KCC) กรุงคิกาลี สาธารณรัฐรวันดา โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมวันที่สอง ดังนี้
1. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 210 ( The 210th Session of the Governing Council) ในเวลา 09.00 -11.00 น. โดยมี Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมและเลขานุการการประชุมตามลำดับ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ รับทราบรายงานการดำเนินงานของ IPU ในรอบ 6 เดือน รายงานสถานการณ์ทางการเงินของสหภาพรัฐสภา และงบประมาณรวมสำหรับปี 2566 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความริเริ่มในการจัดตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคของสหภาพรัฐสภาและได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในเรื่องนี้

ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. ที่ประชุมได้เริ่มเข้าสู่การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Assembly) เป็นวันแรก โดยมี Rt. Hon. Ms. Donatille Mukabalisa ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐรวันดา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในการประชุม โดยที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนระดับประธานรัฐสภา/ประธานสภา (high-level segment) ซึ่งได้รับการจัดสรรเวลาสำหรับกล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 7 นาที ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ คือ "Gender equality and gender-sensitive parliaments as drivers of change for a more resilient and peaceful world"

จากนั้นในเวลา 17.00 น. ที่ประชุมสมัชชาได้เข้าสู่วาระการพิจารณาข้อเสนอหัวข้อเพื่อพิจารณาลงมติบรรจุเป็นระเบียบวาระเร่งด่วน (emergency items) โดยประเทศสมาชิกได้เสนอเข้ามาทั้งหมดรวม 4 รายการ และเหลือหัวข้อในขั้นสุดท้ายเพียง 2 หัวข้อ ได้แก่ 
1) ร่างข้อมติว่าด้วยกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสนอโดยรัฐสภาปากีสถาน และ 
2) ร่างข้อมติว่าด้วยการสู้รบและการผนวกดินแดนในยูเครน เสนอโดยรัฐสภาชิลีและกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ละตินอเมริกาและแคริบเบียน (GRULAC) โดยคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกในการลงมติเพื่อเลือกหัวข้อระเบียบวาระเร่งด่วนดังกล่าว ผลปรากฎว่าหัวข้อที่ 2 ซึ่งเสนอโดยรัฐสภาชิลีและกลุ่ม GRULAC ได้รับเสียงผ่านเกณฑ์ 2 ใน 3 โดยมีประเทศสมาชิกที่เห็นชอบ 717 เสียง ไม่เห็นชอบ 119 เสียง และ งดออกเสียง 362 เสียง ทำให้ร่างข้อมติฉบับดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะ กมธ.ยกร่างข้อมติระเบียบวาระเร่งด่วนต่อไป

2. นอกจากนี้ ผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้ปฏิบัติภารกิจในการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ ในกรอบการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
2.1 ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (The IPU Standing Committee on Sustainable Development) เมื่อเวลา 09.00 น. ซึ่งจัดการอภิปรายในหัวข้อ "Parliamentary efforts in achieving negative carbon balances of forests" ซึ่งเป็นหัวข้อของร่างข้อมติของคณะ กมธ.สามัญฯ ในการประชุมสมัชชาครั้งถัดไป โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันดำเนินการเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามเป้าหมายข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการปลูกป่า เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในการนี้ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ได้ร่วมอภิปรายในประเด็นการทำงานของภาครัฐสภาในการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในทุกระดับ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ผลิต และผู้ใช้ทรัพยากรโดยตรง และเห็นควรส่งเสริมการสร้างรายได้และสร้างความยั่งยืนทั้งสำหรับผืนป่าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ
2.2 นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และน.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อมติ หัวข้อ " Parliamentary impetus to local and regional development of countrieswith high levels of international migration, and to stopping all forms, including state-sponsored, of human trafficking and human rights abuses" โดยมีประเทศสมาชิกส่งข้อเสนอขอแก้ไขร่างข้อมติเข้ามาทั้งสิ้นรวม 18 ประเทศ  และในการดังกล่าวน.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมเกี่ยวกับภาพรวมของร่างข้อมติ โดยที่ไทยเห็นควรให้รัฐสภามีบทบาทในการสนับสนุนให้รัฐบาลของตนปฏิบัติตามพันธกรณีของ UN Global Compact for Migration ในการปกป้องสิทธิพื้นฐานของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะผู้อพยพในช่องทางผิดกฎหมาย และให้ความช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์ตามหลักสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพสตรีและเด็กหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ นอกจากนี้ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ยังได้ร่วมอภิปรายชี้แจงข้อเสนอขอแก้ไขร่างข้อมติของไทยรวมทั้งสิ้น 13 รายการ ซึ่งข้อเสนอของไทยบางข้อมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับข้อเสนอบางข้อของแคนาดา แอฟริกาใต้ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะได้นำไปผ่านการควบรวมเนื้อหาในร่างข้อมติต่อไป
2.3 นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (High-Level Advisory Group on Countering Terrorism and Violent Extremism : HLAG-CTVE) ของสหภาพรัฐสภา เข้าร่วมการประชุม HLAG-CTVE ครั้งที่ 12 โดยมีระเบียบวาระที่สำคัญ ได้แก่ 
1)  การกำหนดนิยามที่ชัดเจนของ "การก่อการร้าย" ในบริบทของงานนิติบัญญัติเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย 
2) ข้อเรียกร้องต่อปัญหาการก่อการร้ายในอนุภูมิภาคซาเฮล (Call of the Sahel) โดยพิจารณาปัจจัยความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อการขยายตัวของการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
2.4 น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา (Board of the IPU Forum of Young Parliamentarians) แทนนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภาของสหภาพรัฐสภา โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของภาครัฐสภาเพื่อเสริมพลังให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และเพิ่มสัดส่วนยุวสมาชิกรัฐสภาในรัฐสภาให้มากขึ้น รวมถึง พิจารณาการเสนอความเห็นต่อร่างข้อมติของคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ผ่านมุมมองเยาวชน โดยเฉพาะในประเด็นการคุ้มครองสิทธิและดูแลผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นเด็กและผู้เยาว์ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ รวมถึงการสร้างโอกาสการจ้างงาน ตลอดจน ส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบัน ให้แก่เยาวชนในประเทศต้นทาง เพื่อลดปัจจัยผลักให้เยาวชนต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
2.5 น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร พร้อมด้วย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมยุวสมาชิกของสหภาพรัฐสภา (Forum of Young Parliamentarians) ในช่วงบ่าย ในการนี้ น.ส.สรัสนันท์ ได้กล่าวถึงพัฒนาการของประเทศไทยในการเสริมพลังของคนรุ่นใหม่ในเวทีการเมือง ส่งผลให้มีสัดส่วนของยุวสมาชิกรัฐสภามากขึ้น ถึงกว่าร้อยละ 24 ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระดับโลก ทั้งนี้ รัฐสภาไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ผลักดันประเด็นการส่งเสริมเยาวชนให้มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะในระบอบประชาธิปไตย อาทิ การสานเสวนาอย่างใกล้ชิดระหว่างยุวสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาอาวุโส และโครงการยุวชนประชาธิปไตยของรัฐสภา เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังได้แจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า รัฐสภาไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม APPF ครั้งที่ 30 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 ได้ริเริ่มกิจกรรมการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการเสริมพลังยุวสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นครั้งแรกในกรอบการประชุมดังกล่าวด้วย

3. วาระการพบปะหารือทวิภาคี ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 
3.1 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าพบปะหารือทวิภาคีกับคณะผู้แทนรัฐสภาอิสราเอล (Knesset) นำโดย Mr. Avi Dicter  รองประธานคณะที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (High-Level Advisory Group on Countering Terrorism and Violent Extremism : HLAG-CTVE) ของสหภาพรัฐสภา โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ระหว่างประเทศทั้งสอง อาทิ ความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเกษตรและชลประทานที่ไทยและอิสราเอลสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ นอกจากนี้ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ในฐานะประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อิสราเอล ได้หยิบยกความเป็นไปได้ในการใช้กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายเป็นกลไกหลักในการขยายความร่วมมือทวิภาคีของฝ่ายนิติบัญญัติ ในโอกาสการครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอิสราเอล ในปี 2567 ซึ่งฝ่ายอิสราเอลมีความยินดีที่จะกระชับความร่วมมือภาครัฐสภากับฝ่ายไทย เมื่อรัฐสภาอิสราเอลได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. นี้
3.2  คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าพบปะหารือกับ Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา โดยทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องว่าสหภาพรัฐสภา มีพันธกิจหลักในการธำรงไว้ซึ่งหลักการและค่านิยมสากลที่นานาประเทศต่างยึดถือ ได้แก่ หลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่าง ๆ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ค่านิยมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ในยามที่โลกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน IPU ยังมีบทบาทสำคัญในการสานเสวนาและแสวงหาความร่วมมือภายในประชาคมรัฐสภาระหว่างประเทศ เพื่อสร้างฉันทามติในประเด็นที่เห็นต่างกันและร่วมกันผลักดันประเด็นที่เห็นพ้องเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยประธานสหภาพรัฐสภาได้ชื่นชมรัฐสภาไทยที่ได้สนับสนุนงานของ IPU อย่างแข็งขันทั้งในกิจกรรมรูปแบบปกติและกิจกรรมออนไลน์ โดยยกตัวอย่างการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ด้านคณะผู้แทนรัฐสภาไทยยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่รัฐสภาไทยจะให้ความร่วมมือกับกิจการของสหภาพรัฐสภาในฐานะหุ้นส่วนโดยในการประชุมสมัชชาครั้งนี้รัฐสภาไทยได้ส่งยุวสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาสตรี 2 คน ร่วมในองค์ประกอบคณะผู้แทน ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าไทยให้ความสำคัญกับหลักการสำคัญของ IPU ได้แก่ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการเสริมพลังเยาวชน และขอบคุณสหภาพรัฐสภาที่ให้การสนับสนุนรัฐสภาไทยเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะเลขาธิการ IPU ที่ได้ตอบรับเป็นองค์ปาฐกในกิจกรรมเสวนาโต๊ะกลมว่าด้วยการเสริมพลังยุวสมาชิกรัฐสภาในห้วงการประชุม APPF ครั้งที่ 30 ที่รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพ และพร้อมที่จะต้อนรับเลขาธิการ IPU อีกครั้งด้วยความยินดี ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

4. กิจกรรมอื่น ๆ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์  ตันติศิรินทร์ หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วย ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน ได้เข้าร่วมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตัวแทนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก (APG) ด้วยวิธีการลงคะแนนลับ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา แทนจีนที่หมดวาระลง ตามมติที่ประชุมกลุ่มฯ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 65 โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คน ได้แก่ Ms. Aparajita Sarangi จากอินเดีย และ Mr. Fadli Zon จากอินโดนีเซีย โดยมีผู้แทนรัฐสภาเวียดนามเป็นประธานในการเลือกตั้ง และตัวแทนของสหภาพรัฐสภา ร่วมอำนวยการจัดการเลือกตั้ง  และในการดังกล่าว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ ผู้แทนของไทย (ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์) ร่วมกับผู้แทนแคนาดาทำหน้าที่ผู้นับคะแนน (Tellers) ผลปรากฏว่าผู้สมัครของอินเดียชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 12 คะแนน ต่อ 6 คะแนน โดยผู้แทนสมาชิกกลุ่ม APG ได้ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้แทนอินเดียในการนี้ด้วย

อนึ่ง น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา (IPU Advisory Group on Health - AGH) ครั้งที่ 27 ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 แบบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จากประเทศไทย โดยได้นำเสนอให้ที่ประชุมทราบถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยที่ได้ปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่รวันดานำเสนอซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับบางส่วนของประเทศไทย คือภาคใต้ ที่ประชากรมีปัญหาด้านสุขภาพ อัตรามารดาและทารกเสียชีวิตที่ยังสูง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ โดยเน้นเรื่องการให้การศึกษาในทุกระดับ และที่สำคัญประเทศไทยได้ดำเนินการสำเร็จผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่มีมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันมี อสม. จำนวนกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ

เครดิต : ภาพและข่าว โดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 145 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

download download Download all images download
รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ข้อบังคับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ร้องเรียน/ร้องทุกข์ กฎหมายในกลุ่มอาเซียน ห้องข่าว
หอสมุดรัฐสภา กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา มาตรฐานการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไอที สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระบบซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไอที สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สโมสรรัฐสภา
เงินอุดหนุนการวิจัย ของที่ระลึกของรัฐสภา Web Mail รางวัลพานแว่นฟ้า บทความเกี่ยวกับคดีของศาลปกครอง
โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ วารสารทรัพยากรบุคคลรัฐสภา ระบบสมุดโทรศัพท์ สผ. บน Smart Phone ติดต่อรัฐสภา
ศูนย์การจัดการความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบ Intranet PMQA องค์กร สำนักงบประมาณของรัฐสภา การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน
รัฐสภาสีขาว เงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกู้ยืมเพื่อชำระหนี้สิน ชมรมรัฐสภาอาสา
สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๕๐๐ email : webmaster@parliament.go.th http://www.parliament.go.th