|
ปฏิทินกิจกรรม |
« |
พฤศจิกายน 2567 |
» |
อา. |
จ. |
อ. |
พ. |
พฤ. |
ศ. |
ส. |
| | | | |
1 |
2 |
3 |
4 |
5 |
6 |
7 |
8 |
9 |
10 |
11 |
12 |
13 |
14 |
15 |
16 |
17 |
18 |
19 |
20 |
21 |
22 |
23 |
24 |
25 |
26 |
27 |
28 |
29 |
30 | |
|
|
|
|
|
|
ดูปฏิทินทั้งหมด |
|
|
|
|
|
วันพุธที่ 24 เมษายน 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2 ชั้น B 1 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นพลเมืองของเยาวชนในระบอบประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงาน ในการนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหาร และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกิจกรรม
โอกาสนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้กล่าวเปิดกิจกรรมใจความตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับยุวชนประชาธิปไตย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมยุวชนประชาธิปไตยในครั้งนี้ทุกท่าน และขอขอบคุณเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่จัดโครงการส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นพลเมืองของเยาวชนในระบอบประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตยดำเนินการมาแล้ว 23 ปี มีผู้ที่ผ่านการอบรมมากกว่า 6,000 คน ซึ่งเป็นพลังสำคัญยิ่งของระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การศึกษาอบรมเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในหลักการของประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยจะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. อำนาจบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี 2. อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจของรัฐสภา ผู้ใช้อำนาจนี้ในการออกกฎหมาย และมีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร 3. อำนาจตุลาการ คือ อำนาจของศาล หากยุวชนมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะเป็นผู้รักษาประเทศต่อไป ในปัจจุบันนี้การเปลี่ยนแปลงของประเทศเกิดจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาจากประสบการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการรัฐประหารเกิดขึ้น จนเป็นที่มารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง เพราะว่ามีบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปในแนวทางก้าวหน้าและเป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ถูกร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการผลักดันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งในปี 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมีการชุมนุมในพื้นที่ถนนราชดำเนิน จนนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีความชอบธรรมในการเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน หากย้อนวันประวัติศาสตร์ เมื่อ11 ตุลาคม 2540 สมัยที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐธรรมนูญ 2540 คือจุดเริ่มต้นของการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง และที่มาขององค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และในปี 2549 ได้เกิดรัฐประหารในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลว่า การบริหารราชการแผ่นดินก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
สำหรับการจัดกิจกรรมยุวชนในครั้งนี้ จะสร้างความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย มีความผูกพัน มีความรักสามัคคีซึ่งกันและกัน และในอนาคตข้างหน้ายุวชนประชาธิปไตยอาจจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ตามที่คาดหวังไว้ และขอให้ยุวชนประชาธิปไตยที่เข้ารับการฝึกอบรมทุกคน เป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้เข้มแข็ง ประสบความสำเร็จทุกประการ สำหรับกิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระบวนการทางนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเพื่อให้เยาวชนผู้เข้ารับการฝึกอบรมตระหนักในหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย ตลอดจนเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั่วทุกภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสถาบันนิติบัญญัติอย่างเท่าเทียม โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการเป็นเครือข่ายด้านประชาธิปไตย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ / สายอาชีพ และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ที่มีอายุระหว่าง 15 - 20 ปี จำนวน 160 คน |
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๕๐๐ email : webmaster@parliament.go.th http://www.parliament.go.th |
|
|