กลับหน้าหลัก

เมนูหลัก


 ปฏิทินกิจกรรม
« พฤศจิกายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
      1 2
3 4 5 6 7 8 9
10 11 12 13 14 15 16
17 18 19 20 21 22 23
24 25 26 27 28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด
 
                                 อ่านทั้งหมด...

วีดิทัศน์สำนักงานฯ



  • ประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ๒๕๖๔    download_icon

  • ๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา    download_icon

  • เล่าเรื่องในหลวง ร.๙ ภายใน ๒ นาที    download_icon

  • วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า    download_icon

  • สารานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ    download_icon

 แสดงทั้งหมด...

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์


เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 เวลา 16.00 – 19.00 นาฬิกา และเวลา 21.00  –  24.00 นาฬิกา นางพิกุลแก้ว  ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานสหภาพรัฐสภาและกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมแบบผสมผสาน (hybrid meeting) ของคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมัยที่ 291 (The 291st session of the Executive Committee) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147  เป็นวันแรก โดยคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาเป็นองค์กรบริหารของสหภาพรัฐสภา มีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานขององค์กร รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภาในประเด็นสำคัญที่หลากหลาย อาทิ การสมัครเข้าร่วมในองค์กรของรัฐสภาแห่งชาติหรือองค์กรภาครัฐสภาระดับภูมิภาค การพิจารณาผู้สมัครในตำแหน่งเลขาธิการสหภาพรัฐสภาเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีบริหาร การกำหนดวันเวลา สถานที่จัดการประชุมคณะมนตรีบริหารและกำหนดร่างระเบียบวาระการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ ยังนำเสนอโครงการดำเนินงานและงบประมาณขององค์กร ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 12 คน ประกอบด้วย กรรมการบริหารฯ จากแอลจีเรีย คองโก ฝรั่งเศส ปากีสถาน สเปน สวีเดน  ยูกันดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุรุกวัย อุซเบกิสถาน ซิมบับเว และไทย โดยมี Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พร้อมด้วย Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ประธานคณะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา (เข้าร่วมการประชุมแบบผสมผสาน) และประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีเข้าร่วมการประชุมด้วย

ที่ประชุมฯ เริ่มต้นด้วยการพิจารณาหารือเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระการประชุม  8 เรื่องสำคัญ ได้แก่  
(1) รับรองระเบียบวาระการประชุม
(2) รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมัยที่ 290 เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน 2566 ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส
(3) รับฟังประธานสหภาพรัฐสภารายงานการดำเนินกิจกรรม ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การเสริมสร้างภาพลักษณ์และทำให้สหภาพรัฐสภาเป็นที่รู้จัก โดยการเยือนประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เวียดนาม จีน เม็กซิโก อินเดีย เป็นต้น การบรรลุเป้าหมายการมีสมาชิกภาพเป็นสากล (universal membership) โดยเฉพาะการเข้าพบตัวแทนสมาชิกสภาคองเกรสและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อเชิญชวนให้กลับเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา การส่งเสริมคุณค่าและแผนยุทธศาสตร์ของสหภาพรัฐสภา โดยกล่าวถึงการนำแผนยุทธศาสตร์ฯ มาปฏิบัติ และการส่งเสริมธรรมาภิบาลขององค์กร โดยเฉพาะการจัดตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคของสหภาพรัฐสภาในประเทศอุรุกวัยนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาอุกวัยกับสหภาพรัฐสภา จากนั้น กรรมการบริหารฯ จากซิมบับเว ยูกันดา และประธานคณะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา ได้กล่าวแสดงความชื่นชมประธานสหภาพรัฐสภาสำหรับความความทุ่มเทและพยายามในการดำเนินกิจกรรมและการอุทิศตนตลอดสามปีของการดำรงตำแหน่ง

ในการนี้ นางพิกุลแก้ว  ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ มีใจความสำคัญว่า “การดำเนินกิจกรรมของประธานสหภาพรัฐสภาแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของสหภาพรัฐสภาและการยกระดับความร่วมมือพหุภาคี การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานสหภาพรัฐสภาในฐานะแขกของรัฐสภาไทย โดยมีประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีเดินทางร่วมมาด้วยเป็นการพิสูจน์ถึงภารกิจที่สำเร็จภายใต้การนำและความทุ่มเทที่มีค่าเพื่อสร้างเสริมบทบาทของสหภาพรัฐสภาในฐานะเวทีของรัฐสภาทั่วโลก เพื่อสร้างภาพลักษณ์และเผยแพร่คุณค่าและหลักการขององค์กร ตนหวังว่าการพบปะหารือกับบุคคลสำคัญของรัฐสภาไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรีของไทยจะนำมาซึ่งผลสำเร็จ ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งระหว่างประเทศไทยและสหภาพรัฐสภา ตนหวังว่าจะมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างทั้งสองสถาบันในประเด็นที่อยู่ในความสนใจร่วมกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหวังว่าจะได้ต้อนรับประธานสหภาพรัฐสภาอีกครั้งในอนาคตอันใกล้”
(4) รับฟังการนำเสนอรายงานการดำเนินกิจกรรมของสหภาพรัฐสภา (Interim Report) โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้สรุปรายงานการดำเนินกิจกรรมของสหภาพรัฐสภา ตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาและผลกระทบของการดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายที่ระบุในยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภา จำนวน 5 เป้าหมาย โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภา จะนำเสนอรายงานฉบับเต็ม ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาเดือนมีนาคม 2567 ที่ประชุมฯ ยังได้รับฟังการนำเสนอการดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัล และมาตรการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาครัฐสภากับศาสนาและความเชื่อเพื่อส่งเสริมสันติภาพ  

ในการนี้ นางพิกุลแก้วฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ ผ่านกระดานข้อความ (chat) โดยมีใจความสำคัญว่า “การปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ การติดตามการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลได้รับการคุ้มครองและนำไปใช้ตรงวัตถุประสงค์ รวมถึงการสร้างทักษะและการวางระบบโครงสร้างเทคโนโลยีสำหรับรัฐสภาสมาชิกและสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัลได้อย่างเต็มที่” 

สำหรับการมีส่วนร่วมของภาครัฐสภากับศาสนาและความเชื่อ นางพิกุลแก้วฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ ผ่านกระดานข้อความ (chat) โดยมีใจความสำคัญว่า “ประเทศไทยเป็นสังคมหลากวัฒนธรรม ประชาชนนับถือศาสนาที่แตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ รัฐสภาไทยยังมีพันธกิจในการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชนทางศาสนา ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรเยาวชน เพื่อเผยแพร่คุณค่าของการยอมรับความหลากหลายและสันติวัฒนธรรม”
(5) พิจารณาคำร้องขอกลับเข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภาของรัฐสภาบาฮามาส การขอเข้าเป็นสมาชิกสมทบของ MERCOSUR Parliament และการขอเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรของสหภาพรัฐสภาของ International Parliamentarians’ Congress (IPC), Conference of Political Parties of Latin America and the Caribbean (COPPPAL) และ Association of Secretaries General of Arab Parliaments (ASGAP)
(6) รับฟังการนำเสนอรายงานการนำข้อมติและข้อตัดสินใจของสหภาพรัฐสภาไปปฏิบัติในรัฐสภาสมาชิกของสหภาพรัฐสภา
(7) รับฟังการนำเสนอสถานะการเงินของสหภาพรัฐสภา ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566  โดย Ms. Janine Sofia Alm Ericson กรรมการบริหารฯ จากสวีเดน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงินของสหภาพรัฐสภา (Sub-Committee on Finance) รวมถึงรายงานการเงิน ประจำปี 2565 และรายงานของผู้สอบบัญชีภายนอก ร่างงบประมาณสหภาพรัฐสภา ประจำปี 2567 และรับทราบรายงานความคืบหน้าของการระดมเงินทุนโดยความสมัครใจ โดยที่ประชุมฯ เห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบเอกสารข้างต้น
(8) รับทราบความคืบหน้าในการจัดตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคของสหภาพรัฐสภา โดยการจัดตั้งสำนักงานฯ ในประเทศอุรุกวัย มีความคืบหน้าในการลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอุรุกวัยและสหภาพรัฐสภาเพื่อรับรองสถานะสหภาพรัฐสภาเป็นองค์การระหว่างประเทศ และกำลังอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านธุรการ สำหรับประเทศอียิปต์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอียิปต์และสหภาพรัฐสภา
ในการนี้ นางพิกุลแก้วฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ ผ่านกระดานข้อความ (chat) โดยมีใจความสำคัญว่า “ตนยินดีที่ได้รับทราบความก้าวหน้าของรัฐสภาอุรุกวัยในการจัดตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคของสหภาพรัฐสภา โดยเฉพาะการลงนามในข้อตกลงระหว่างสหภาพรัฐสภาและรัฐบาลอุรุกวัย ซึ่งคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาได้เป็นสักขีพยานในระหว่างการประชุม ณ ประเทศโปรตุเกส โดยหวังว่าจะได้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกจากโครงการนำร่องนี้”

การประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาในวันที่สอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 16.00 -19.45 นาฬิกา   ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาวาระต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาระเบียบวาระ9 เรื่องสำคัญ ได้แก่
(1) รับฟังการนำเสนอรายงานความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภาและสมาคมเลขาธิการรัฐสภา (Association of Secretaries General of Parliaments – ASGP) 
(2) รับฟังรายงานสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกบางประเทศที่สหภาพรัฐสภามีข้อห่วงกังวล เช่น ปัญหาความไม่สงบหรือวิกฤตทางการเมือง การสู้รบขัดแย้งภายในประเทศ  การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือการจัดตั้งสภาพลัดถิ่น เป็นต้น โดยประเทศที่เลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้รายงานสถานการณ์ดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริหารฯ ได้แก่ อัฟกานิสถาน เฮติ เมียนมา ไนเจอร์ บูร์กินาฟาโซ ซูดาน ชาด กาบอง ลิเบีย มาลี ตูนีเซีย เวเนซุเอลา บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เปรู เอสวาตินี ปาเลสไตน์ กินี กินี-บิสเซา เซาท์ซูดาน ซีเรีย และเยเมน   (3) รับฟังการนำเสนอนโยบายสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศ (IPU anti-harassment policy) ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของ Gender Partnership Group ในการจัดทำกรอบร่างเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดที่อาจเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาและการประชุมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นโดยสหภาพรัฐสภา
(4) รับฟังข้อเสนอในการแก้ไขธรรมนูญและข้อบังคับของสหภาพรัฐสภา โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ (Sub-Committee) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ 6 กลุ่ม เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขธรรมนูญและข้อบังคับ อย่างไรก็ดี ประธานสหภาพรัฐสภาเห็นควรให้คณะกรรมการบริหารฯ ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่เป็นผู้พิจารณาองค์ประกอบในสัดส่วนของคณะกรรมการบริหารฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยให้ขยายวันปิดรับข้อเสนอขอแก้ไขฯ ไปถึงปลายเดือนพฤศจิกายนศกนี้
ในการนี้ นางพิกุลแก้วฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ ผ่านกระดานข้อความ (chat) โดยมีใจความสำคัญว่า “ตนเห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอแก้ไขธรรมนูญและข้อบังคับสหภาพรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ และได้เสนอแนะให้พิจารณาตัวแทนของคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี และ คณะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมในองค์ประกอบดังกล่าวด้วย เพื่อให้ข้อเสนอทั้งหมดได้รับการพิจารณา ทบทวนและได้รับความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง”
(5) รับฟังขั้นตอนการเลือกตั้งประธานสหภาพรัฐสภาคนใหม่
(6) รับฟังการดำเนินงานของคณะทำงานว่าด้วยการแก้ไขปัญหาวิกฤตในยูเครนด้วยสันติวิธี (IPU Task Force on the peaceful resolution of the war in Ukraine) โดยคณะทำงานฯ มีความพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นและทำให้รัฐสภาของรัสเซียและยูเครนได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ
(7) รับทราบการเลื่อนตำแหน่งในสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา
(8) พิจารณาเรื่องการจัดประชุมสหภาพรัฐสภาในอนาคต โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมฯ ว่าการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 27 มีนาคม 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สำหรับการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 149 กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาสถานที่และช่วงเวลาในการจัดประชุม และการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2568 ณ ประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีและประธานคณะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา ได้กล่าวชื่นชมและเสนอแนะให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในกรอบสหภาพรัฐสภา 

ในการนี้ นางพิกุลแก้วฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมฯ มีใจความสำคัญว่า “ในโอกาสที่ตนกำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งรองประธานสหภาพรัฐสภาและกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับกรรมการบริหารฯ ทุกท่านตลอดระยะเวลาสี่ปี ในช่วงเวลายากลำบากของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คณะกรรมการบริหารฯ ได้ปรับตัวกับสถานการณ์และปฏิบัติหน้าที่สำคัญในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยทำงานผ่านการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของคณะกรรมการบริหารฯ โดยสามารถจัดโครงการและดำเนินงานที่สำคัญได้มากมาย โดยเฉพาะการเตรียมการจัดการประชุมประธานรัฐสภาโลกซึ่งตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดการประชุมฯ ความทรงจำเหล่านี้จะคงอยู่กับตนตลอดไป นอกจากนี้ ตนขอขอบคุณเลขาธิการสหภาพรัฐสภาและเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาที่ทำงานอย่างหนักและให้การสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมในการจัดเตรียมเอกสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสมบูรณ์ การจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แสดงถึงประสิทธิภาพของฝ่ายเลขาฯ ในการปรับตัวและทำให้สหภาพรัฐสภาดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นให้กับรัฐสภาสมาชิกในบริบทใหม่ ในโลกปัจจุบันที่เผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ การขาดเสถียรภาพ ความยากจน ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไขด้วยร่วมมือระดับพหุภาคี สหภาพรัฐสภาจึงมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาแนวทางแก้ไขของภาคนิติบัญญัติสำหรับประเด็นท้าทายระดับโลกที่เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและเข้าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับเพื่อให้สามารถตอบสนองกับปัญหาร่วมสมัยได้อย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยยืนยันในพันธกิจที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับสหภาพรัฐสภาเพื่อช่วยให้บรรลุหน้าที่และวัตถุประสงค์ขององค์กร รวมทั้งทำให้สหภาพรัฐสภาและบทบาทนำของภาครัฐสภามีความก้าวหน้าเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้คณะกรรมการบริหารฯ และสหภาพรัฐสภาประสบแต่สิ่งที่ดีและมีความสำเร็จในอนาคต และเรายินดีที่จะมีการจัดประชุมในกรอบสหภาพรัฐสภาในประเทศไทย”

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับฟังการเตรียมการสำหรับการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2568 โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารฯ ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่เป็นผู้พิจารณาองค์ประกอบของ Preparatory Committee ในการเตรียมการจัดการประชุมประธานรัฐสภาโลก 
(8) รับฟังการดำเนินงานของคณะทำงานว่าด้วยความโปร่งใส ความรับผิดชอบและการเปิดเผยของสหภาพรัฐสภา โดย Ms. Janine Sofia Alm Ericson กรรมการบริหารฯ จากสวีเดน ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ได้นำเสนอเอกสาร Code of Conduct for IPU Governance Officials และการกำหนดขอบเขตงานในการจัดตั้งคณะกรรมการด้านจริยธรรมและการตรวจสอบของสหภาพรัฐสภา (IPU Oversight and Ethics Committee) โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบเอกสารดังกล่าว
(9) ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ Dr. Ali Rashid AlNuaimi กรรมการบริหารฯ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารฯ ที่มีอาวุโสสูงสุด ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (Vice-President of the Executive Committee) สำหรับตำแหน่งรองประธานสหภาพรัฐสภา (IPU Vice-Presidents) ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารฯ ชุดใหม่ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้เลือกตั้งจากสมาชิกกรรมการบริหารฯ 

ในช่วงท้าย เป็นพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่กรรมการบริหารฯ ที่จะหมดวาระลงในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งอยู่ในสถานที่ประชุม อาทิ กรรมการบริหารฯ จากซิมบับเว ยูกันดา และอุซเบกิสถาน

เครดิตข่าวและภาพ โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
download download Download all images download
รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ข้อบังคับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ร้องเรียน/ร้องทุกข์ กฎหมายในกลุ่มอาเซียน ห้องข่าว
หอสมุดรัฐสภา กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา มาตรฐานการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไอที สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระบบซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไอที สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สโมสรรัฐสภา
เงินอุดหนุนการวิจัย ของที่ระลึกของรัฐสภา Web Mail รางวัลพานแว่นฟ้า บทความเกี่ยวกับคดีของศาลปกครอง
โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ วารสารทรัพยากรบุคคลรัฐสภา ระบบสมุดโทรศัพท์ สผ. บน Smart Phone ติดต่อรัฐสภา
ศูนย์การจัดการความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบ Intranet PMQA องค์กร สำนักงบประมาณของรัฐสภา การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน
รัฐสภาสีขาว เงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกู้ยืมเพื่อชำระหนี้สิน ชมรมรัฐสภาอาสา
สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๕๐๐ email : webmaster@parliament.go.th http://www.parliament.go.th