วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๓๐ นาฬิกา ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานชมรมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๕๗ (สปช. ๕๗) เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนาการปฏิรูปประเทศ (Reform Forum) พร้อมทั้งกล่าวเปิดการเสวนา เรื่อง "ก้าวใหม่ไทยแลนด์ ๔.๐ ภายใต้พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ"
รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า แม้จะมีการปรับโมเดลเศรษฐกิจหลายครั้งในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่สามารถนำประเทศก้าวขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ เพราะประเทศยังติดกับ ๓ กับดัก คือ "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" "กับดักความเหลื่อมล้ำความมั่งคั่ง" และ "กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา" ทั้งสามกับดักนี้ฉุดรั้งศักยภาพในการพัฒนาประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนานประเทศไทยเริ่มต้นจากการเป็นประเทศไทย ๑.๐ เน้นสังคมเกษตรกรรมเป็นหลัก จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศไทย ๒.๐ ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา แรงงานราคาถูก และประชากรเริ่มมีการศึกษามากขึ้น จากนั้นเป็นยุคของประเทศไทย ๓.๐ ที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเบามาเป็นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก ที่ใช้ต้นทุนและเทคโนโลยีในการผลิตจากต่างประเทศ จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามเพื่อหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำความมั่งคั่ง และกับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา เพื่อก้าวขึ้นไปเป็น "ประเทศไทย ๔.๐" ให้ได้ เป้าหมายของการเป็นประเทศไทย ๔.๐ คือ ยกระดับไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรมีรายได้สูง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ครอบคลุมทั้ง ๔ มิติ ได้แก่ ๑. มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ต้องเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ๒.ต้องมีความอยู่ดีมีสุขทางสังคม เป็นสังที่เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยการเติมเต็มศักยภาพของผู้คนในสังคม เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ฟื้นความสมานฉันท์และความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคม ๓. ยกระดับคุณค่ามนุษย์ ด้วยการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ ๒๑ ควบคู่ไปกับการเป็นคนไทย ๔.๐ในโลกที่หนึ่ง ๔. รักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างสังคมให้เป็นที่น่าอยู่ มีระบบเศรษฐกิจที่สามารถปรับสภาพตามภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเต็มรูปแบบ ตามมาตรา ๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้บัญญัติให้รัฐต้องพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติขึ้น เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล และใช้ยุทธศาสตร์เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน ให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมาย
นอกเหนือจากการมียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกำหนดการดำเนินการ และกำหนดเป้าหมายในการก้าวข้ามกับดักต่าง ๆ ไปสู่การเป็นประเทศไทย ๔.๐ แล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีควบคู่กันไปกับยุทธศาสตร์ชาติคือ การปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องมีวิธีการจัดทำแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้านควบคู่ไปด้วย ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ คือเครื่องมือและกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสำเร็จ เกิดสัมฤทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ และนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศไทย ๔.๐ ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม การปฏิรูปประเทศประเทศ และไทยแลนด์ ๔.๐ เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน
ทั้งนี้งานเสวนาดังกล่าวจัดโดยชมรมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๕๗ (สปช. ๕๗) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ/อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การโลก พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย/ประธานกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหารหอการค้าไทย นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และคุณพจนีย์ ธนวรานิช กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการตรวจสอบ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ดำเนินรายการโดย นายบุญเลิศ คชายุทธเดช และนายนิมิตร สิทธิไตรย์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ.