วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่างอาคารรัฐสภา ๑ นายเกรียงยศ สุดลาภา โฆษกกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยนายวัลลภ พริ้งพงษ์ รองประธานกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง แถลงข่าวว่า สปท. ได้เห็นชอบรายงานการการปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป และเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการศึกษารายงานผลการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้อง ทั้ง ๔ ภาคทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป (อบต. เทศบาล อบจ.) ให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิ์ผลของการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ จึงได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป คือ ปฏิรูปรูปแบบ โครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป โดยกำหนดให้โครงสร้างใหม่ เป็น ๒ รูปแบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิรูปโดยเปลี่ยนบทบาทให้เป็นหน่วยงานอำนวยการ สนับสนุน บูรณาการ ประสานงานการดำเนินการให้กับเทศบาล เป็นการทำงานในภาพรวมของจังหวัด หรือภารกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับเทศบาล สำหรับเทศบาล กำหนดให้ปรับปรุงเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ โดยยกฐานะ อบต. ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาล และจัดลำดับชั้นของเทศบาล เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นมีความเป็นอิสระ มีหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะของตนเอง โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของการพัฒนาจังหวัดและประเทศเป็นส่วนรวม ทั้งนี้เมื่อยกฐานะ อบต.แล้วจะทำให้ท้องถิ่นมีศักยภาพและมีประสิทธิภาพในการให้บริการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียมกัน มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีการรักษาวินัยการเงิน การคลัง การกำหนดมาตรการหรือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจรติประพฤติมิชอบในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ ปฏิรูปการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ ปฏิรูปการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้รับประเภทของการบริการสาธารณะอย่างมีคุณภาพและอย่างมีมาตรฐานทั่วประเทศ