วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุม สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น ๒ ถ.แจ้งวัฒนะ
กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม ที่มี พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน จัดโครงการสัมมนาเรื่องการกำหนดแนวทางให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา โดยมี นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิด และพลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านบริหารจัดการการกีฬา เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยการสัมมนานี้ เป็นการจัดร่วมกันของคณะขับเคลื่อนฯ ด้านกีฬาฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสมาคมการจัดการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรับทราบปัญหาข้อขัดข้องในการประกอบการ และรับทราบความต้องการในเชิงลุกของอุตสาหกรรมการกีฬา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา เพื่อประกอบการกำหนดแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา ตลอดจนสร้างเครือข่ายของการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการกีฬาว่า เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำหนดเป็นกรอบความเห็นร่วมเพื่อการปฏิรูปให้ สปช. พิจารณาให้การส่งเสริม จึงได้จัดทำเป็นวาระปฏิรูปที่ ๑๙ การกีฬา โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา ได้พิจารณาร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นข้อยุติร่วมที่จะต้องให้การสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศ ซึ่งจากนี้ไป สปท.จะต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยจำนวน ๕ กลุ่ม ได้แก่
๑.กลุ่มที่ให้บริการทางด้านสถานบริการออกกำลังกาย และสโมสรกีฬาสมัครเล่น
๒. กลุ่มสื่อสารมวลชน กิจกรรมการตลาด โฆษราประชาสัมพันธ์ สิทธิประโยชน์ ลิขสิทธิ์ทางการกีฬา และกีฬาอาชีพ
๓. กลุ่มจัดการแข่งขันกีฬา ท่องเที่ยวเชิงกีฬา และนันทนาการ
๔. กลุ่มการบริการทางวิทยาศาสตร์การกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา และผู้ผลิตบุคลากรทางการกีฬา
๕. กลุ่มผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า และส่งออกอุปกรณ์การกีฬา
สำหรับการจัดสัมมนานี้นั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา จะได้ใช้เป็นเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นและนำเสนอความต้องการที่จะให้ภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริม ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาของไทย มีการพัฒนาไปสู่การแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพต่อไป
ทั้งนี้สำหรับผลการสัมมนานั้น สรุปสาระสำคัญได้ นี้
๑.กลุ่มที่ให้บริการทางด้านสถานบริการออกกำลังกาย และสโมสรกีฬาสมัครเล่น นำเสนอว่าควรมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและสวัสดิการของนักกีฬา เพื่อให้ความมั่นคงในชีวิตแก่นักกีฬา ควรมีการปรับปรุงข้อปฏิบัติของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการลดรายละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการบริการทางการกีฬา และควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน
๒. กลุ่มสื่อสารมวลชน กิจกรรมการตลาด โฆษราประชาสัมพันธ์ สิทธิประโยชน์ ลิขสิทธิ์ทางการกีฬา และกีฬาอาชีพ นำเสนอว่าควรจัดให้มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการลงทุนและการบริหารจัดการด้านการกีฬาให้ครบวงจร เพื่อพัฒนาให้ธุรกิจการกีฬาก้าวไปสู่การเป็นมืออาชีพ
๓. กลุ่มจัดการแข่งขันกีฬา ท่องเที่ยวเชิงกีฬา และนันทนาการ ให้ความเห็นว่านโยบายการส่งเสริมของภาครัฐมีความเหมาะสม แต่มีปัญหาในการปฏิบัติ ซึ่งทำมห้เกิดความสับสนแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งภาครัฐคสรดำรงบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางการกีฬา
๔. กลุ่มการบริการทางวิทยาศาสตร์การกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา และผู้ผลิตบุคลากรทางการกีฬา ให้ข้อเสนอว่าการผลิตบุคลากรของภาครัฐเพื่อการกีฬา ยังไม่มีความเป็นมาตรฐาน และไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทางการกีฬา อีกทั้งอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง จึงควรส่งเสริมในเรื่องการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ
๕. กลุ่มผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า และส่งออกอุปกรณ์การกีฬา ให้ความเห็นว่า แรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการกีฬา ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือและขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นภาครัฐจึงควรส่งเสริมและพัฒนาแรงงานไทย เพื่อรองรับระบบอุตสาหกรรมการกีฬา โดยไม่ให้แรงงานที่มีฝีมือและทักษะหลั่งไหลไปนอกประเทศ และควรแก้ไขปัญหาความชัดเจนเรื่องภาษีนำเข้าและส่งออก รวมถึงการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา นอกจากนี้ควรพัฒนาหลักสูตร Sport Management เพื่อให้มีการผลิตบุคลากรได้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการตีความของอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ทั้งนี้ผลจากการสัมมนาจะเป็นกลไกสำคัญในการนำพาทิศทางการกีฬาของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าและเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน |