วันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๐นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๒ ร้อยเอกทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง และนางสาวลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่สอง พร้อมด้วยนายคำนูณ สิทธิสมาน และคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ทีมโฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่วมกันพบปะสื่อมวลชนประจำรัฐสภา (Meet the Press) เพื่อพบปะพูดคุยและชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีประเด็นต่างๆ ดังนี้
- กระบวนการทำงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในขณะนี้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอยู่ในโรดแมประยะที่สอง เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ถึง ๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ เพื่อกลั่นกรองข้อเสนอ โดยจะนำ ๓๗ วาระเดิมของสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาและส่งรายงานเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมาธิการจะต้องเสนอแผนการปฏิรูปต่อสภาภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ครบกำหนดวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๘
- การบรรยายสรุปเกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้แก่คณะทูตานุทูต และองค์การระหว่างประเทศที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย โดยมีคณะทูตานุทูตจาก ๗๔ ประเทศเข้าร่วมและในวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจต่อเอกอัครราชทูตไทย และกงสุลใหญ่ในประเทศไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผลการบรรยายพบว่า ทูตพอใจมากและขอให้จัดการบรรยายเป็นประจำ พร้อมกันนี้ ได้มีการมอบแฟลชไดรฟ์ที่บรรจุรายงานการปฏิรูปให้แก่ทูตานุทูตอีกด้วย
- การแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานรวม ๓ ฝ่าย (คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ)
โดยหลังจากนี้ สปท. มีกำหนดจัดการบรรยายสรุปเกี่ยวกับ สปท. ให้แก่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ต่างๆ ผู้จัดรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ เคเบิ้ลทีวี และโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนถึงแนวทางการดำเนินงานของสปท. ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ รัฐสภา
- ความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยหลังจากที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้จัดตั้ง ศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ขึ้นในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประชาชน ในรูปแบบของการสื่อสารสองทาง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการขับเคลื่อนประเทศ ผ่าน ๑๑ ช่องทาง โดยในครั้งนี้ จะมีการส่งผลกลับไปยังผู้ส่งความคิดเห็นด้วย ซึ่งมีประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญช่วงตั้งแต่ ๑๗ สิงหาคม ถึง ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๘๐ ประเด็น และช่วงตั้งแต่ ๒๐ ตุลาคม ถึง ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ จำนวน ๓๕๘ ประเด็น และมีประชาชนแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ช่วงตั้งแต่ ๑ สิงหาคม ถึง ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๑,๖๖๒ ประเด็น และช่วงตั้งแต่ ๒๐ ตุลาคม ถึง ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ จำนวน ๑๐๒ ประเด็น รวมทั้งสิ้น ๒,๐๐๐ กว่าประเด็น