วันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นร่างที่คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้นตามแนวทางที่ได้รับมอบหมาย โดยได้พิจารณาความในหมวด.. แนวนโยบายแห่งรัฐ (ต่อเนื่อง) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. บทบัญญัติที่เป็นแนวทางให้รัฐพึงคุ้มครอง บำรุงรักษา บริหารจัดการ และจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่น อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักการกระจายอำนาจ
๒. บทบัญญัติที่เป็นแนวทางให้รัฐพึงจัดให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานได้รับความปลอดภัยในการทำงานและได้รับสวัสดิการและรายได้ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน
๓. บทบัญญัติที่เป็นแนวทางให้รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่ถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการขจัดการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และสามารถพัฒนาการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ
๔. บทบัญญัติที่เป็นแนวทางให้รัฐพึงส่งเสริมให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน
๕. บทบัญญัติที่เป็นแนวทางให้รัฐพึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ เงินที่ใช้ในการดำเนินการ การประเมินความคุ้มค่า ผลผลิต ฯลฯ ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป และต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐ ในการจัดทำนโยบายสาธารณะที่กระทบสถานะทางการเงินและการคลังประเทศ
๖. บทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดให้มีสาธารณูปโภคและการจัดทำบริการสาธารณะตามความเหมาะสม
๗. บทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินและงานอื่นของรัฐ ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ขจัดความเหลื่อมล้ำ และต้องพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถภาพสูง รวมถึงมีคุณธรรมและจริยธรรม
อนึ่ง การพิจารณารายละเอียดสามารถนำกลับมาพิจารณาทบทวนได้อีกตามความเหมาะสม ซึ่งหากมีความชัดเจนในการพิจารณาแล้ว โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะนำมารายงานให้ทราบในคราวต่อไป
ทั้งนี้ นิด้าโพล จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการจัดทำโพลนั้นจะเป็นตัวบงชี้ว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร |