ค้นหาข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ค้นหา


แบบฟอร์มขอข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
แบบรับฟังความคิดเห็น
 
 
วีดีทัศน์แนะนำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดาวน์โหลดไฟล์วิดีทัศน์
ค้นหาในศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
รัฐสภาคู่ประชาชน >> เมนูรัฐสภาคู่ประชาชน >> ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ >> สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร >> ประวัติความเป็นมา
หน้า 1


นับจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเมืองการปกครองของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน ๗๐ คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะราษฎร ได้ทำการประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่ประชุมชั่วคราว ในการประชุมครั้งนี้มีมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายพลตรีพระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขออนุมัติต่อที่ประชุมให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อปฏิบัติงานราชการประจำของสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่าสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสถาปนาขึ้นในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕
   
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระยะเริ่มแรกนั้นยังไม่มีกฎหมายจัดตั้งมารองรับ ไม่มีงบประมาณและสถานที่ทำการเป็นของตนเอง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานในขณะนั้นมีอยู่ทั้งหมด ๗ คนด้วยกัน คือ หลวงคหกรรมบดี นายปพาฬ บุญ – หลง นายสนิท ผิวนวล นายฉ่ำ จำรัสเนตร นายสุริยา กุณฑลจินดา นายน้อย สอนกล้าหาญ และนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง ๗ คนนี้ ได้อาศัยวังปารุสกวันใช้เป็นสถานที่ทำงาน โดยไม่ได้รับเงินเดือน เพราะสำนักงานฯ ไม่มีงบประมาณ นอกจากทางการได้จัดเลี้ยงอาหารแก่เจ้าหน้าที่ทุกมื้อเท่านั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรมแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้กิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎรดำเนินไปโดยสมบูรณ์ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำขึ้นหน่วยหนึ่งมีฐานะเป็นกรมขึ้นต่อสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่า “ กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ” ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบและให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ เป็นอันว่ากรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดตั้งโดยกฎหมายตั้งแต่บัดนั้น ( ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ) และในปีเดียวกันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหาร และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมใหม่ ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อของ “ กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ” เป็น “ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ”

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดวางระเบียบราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นตามกฎหมายฉบับใหม่โดยประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๓ กอง คือ สำนักงานเลขานุการ กองปฏิคม และกองบรรณารักษ์และกรรมาธิการ
  
เมื่อใกล้กำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก พระยาพหลพลพระยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ควรจะได้มีที่ทำการถาวรขึ้นเพื่อเป็นที่ติดต่อกับสมาชิกสภา จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ให้เป็นที่ทำการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่กราบบังคมทูลแต่ในขณะที่เตรียมจะย้ายที่ทำการนั้น เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง ได้ทำความตกลงกับเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ใช้อาคารสำนักงานราชเลขานุการ ในพระองค์ เป็นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแทนพระตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ที่ได้ตกลงไว้แต่เดิม เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ย้ายที่ทำการจากวังปารุสกวันมาประจำอยู่ที่อาคารสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ตั้งแต่บัดนั้นมา

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมขึ้นใหม่ โดยได้ยกฐานะสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นทบวงการเมือง และให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เหมาะสมกับกาลสมัยและเพื่อให้การปฏิบัติราชการดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๒ กอง คือ สำนักงานเลขานุการ และกองกรรมาธิการ

ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙ ขึ้นใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ประกาศใช้มาเป็นเวลานานถึง ๑๔ ปีแล้ว และเหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ประกอบกับประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจระบอบการปกครองนี้ดีขึ้นจึงควรที่จะยกเลิกบทเฉพาะกาล และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๔๗๕ ดังนั้น รัฐสภาไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙ ฉบับนี้ได้นำเอาระบบสภาคู่มาใช้เป็นครั้งแรก กล่าวคือ รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภา ( สภาสูง ) และสภาผู้แทน ซึ่งพฤฒสภานั้นประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จึงทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเดิมแยกออกเป็น ๒ สำนักงาน คือ “สำนักงานเลขาธิการพฤฒสภา” และ “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทน” การดำเนินงานฝ่ายธุรการของสำนักงานทั้งสองแยกออกต่างหาก จากกันตามแบบอย่างเดียวกับรัฐสภาของประเทศที่ใช้ระบบสองสภา

สำหรับสำนักเลขาธิการพฤฒสภา ( นายไพโรจน์ ชัยงาม ) เป็นผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติราชาการประจำ และ ขึ้นตรงต่อประธานพฤศสภา สถานที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการพฤฒสภาได้ใช้ตึกราชเลขานุการในพระองค์เป็นที่ทำการ ส่วนสถานที่ทำการของสำนักวานเลขาธิการสภาผู้แทนนั้นได้ย้ายได้ไปอยู่ชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม การประชุมของพฤฒสภาได้ใช้พระที่นั่ง อภิเภกดุสิต เป็นที่ประชุม ส่วนการประชุมสภาผู้แทนและการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา ( พฤฒสภาและสภาผู้แทน ) นั้นคงใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่ประชุมในกรณีที่มีการประชุมร่วมกันระหว่างพฤฒสภาและสภาผู้แทนหรือที่เรียกว่า ประชุมรัฐสภานั้น งานฝ่ายธุรกิจที่เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภา เช่น การจัดระเบียบวาระ การแจกระเบียบวาระ การจดรายงานการประชุม ตลอดถึงการยืนยันมติ และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐสภาเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนทั้งสิ้น และการทำหน้าที่ในที่ประชุมรัฐสภาเลขาธิการสภาของทั้งสองสภาต้องทำหน้าที่ในที่ประชุมร่วมกัน
         
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ( ครั้งที่ ๑๐ ) แก้ไขเพิ่มเติม จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นให้มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการ ฝ่ายธุรการของพฤฒสภาและสภาผู้แทน โดยให้โอนข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการพฤฒสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนไปเป็นของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เพื่อจะทำให้งานธุรการของ ทั้งสองสภาดำเนินไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีเอกภาพยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการในสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๓ กอง คือ กองกลาง กองการประชุม และกองกรรมาธิการ ซึ่งในแต่ละกองได้แบ่งเป็นแผนก กองกลางมี ๕ แผนก กองการประชุมแบ่งเป็น ๓ แผนก และกองกรรมาธิการแบ่งเป็น ๒ แผนก
         
ภายหลังรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ บัญญัติให้สำนักงานเลขาธิการรัฐสภามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการวุฒิสภาและสภาผู้แทน ขึ้นต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทน อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนโดยตรง พร้อมกันนี้ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เปลี่ยนชื่อแผนกตำรวจสภาเป็นแผนกตรวจรัฐสภาเท่านั้น
         
ในปี ๒๔๙๔ ได้มีการปรับปรุงหน่วยงานภายในของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาอีกครั้ง โดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา พ.ศ. ๒๔๙๔ มีประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยการปรับปรุงหน่วยงานครั้งนี้ มีการเพิ่มหน่วยงานขึ้นใหม่หลายหน่วยงาน คือ กองกลางแบ่งเป็น ๖ แผนก กองการประชุม ๔ แผนก และกองกรรมาธิการแบ่งเป็น ๓ แผนก
         
เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ คณะรัฐประหารได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ กลับมาใช้ใหม่ รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระบบสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ชื่อของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาจึงเปลี่ยนมาเป็น “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” อีกครั้งหนึ่ง โดยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๔๙๔ และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และมีการปรับปรุงส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง โดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ก็คือ เพียงเปลี่ยนชื่อแผนกตำรวจรัฐสภา เป็นแผนกตำรวจสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
         
ครั้นพอถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๙๕ และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๑ ตามธรรมนูญฉบับนี้ รัฐสภา คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติอีกด้วย ฉะนั้น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการให้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาที่ ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย ทำให้ปริมาณงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้น และเกิดความไม่คล่องตัวในการปฏิบัติงานของส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงส่วนราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง โดยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๓ ให้มีกองกลาง แบ่งเป็น ๕ แผนก กองการประชุม แบ่งเป็น ๔ แผนก กองกรรมาธิการ แบ่งเป็น ๒ แผนก และกองปฏิคมและสถานที่ แบ่งเป็น ๔ แผนก
         
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๑ รัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา นอกจากนี้ได้ปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันคือ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ( ฉบับที่ ๕ ) พระราชบัญญัติโอนกิจการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปเป็นของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ( ฉบับที่ ๘ ) เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา โดยกองกลางแบ่งเป็น ๕ แผนก กองการประชุมแบ่งเป็น ๔ แผนก กองกรรมาธิการและกองปฏิคมและสถานที่แบ่งเป็น ๔ แผนก
         
ในปี ๒๕๑๒ นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการรัฐสภา ได้เสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทน ถึงความจำเป็นที่ต้องมีที่ประชุมสภาที่ประชุมกรรมาธิการและสำนักงานของเจ้าหน้าที่ของสภา เพราะสถานที่ที่ใช้สอยแยกกันอยู่ ไม่พอแก่การปฏิบัติงาน ซึ่งประธานสภา ทั้งสอง ได้เห็นชอบด้วย จึงได้อนุมัติให้เร่งรัดไปทางคณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาอนุมัติให้จัดสร้างสถานที่ที่ขออนุมัติไปโดยด่วน คณะรัฐมนตรีอันมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๒ อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ตามเสนอ ภายในวงเงิน ๗๘,๑๑๒,๖๒๘ บาท กำหนดแล้วเสร็จประมาณ ๓ ปี โดยอนุมัติให้สร้างอาคาร ๓ หลัง คือ
                    อาคารหลังที่ ๑ เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น
                    อาคารหลังที่ ๒ เป็นอาคาร ๗ ชั้น
                    อาคารหลังที่ ๓ เป็นสโมสรรัฐสภาสูง ๒ ชั้น
 
นอกจากสร้างอาคารทั้ง ๓ หลังแล้ว ยังได้ก่อสร้างอาคารอื่นๆ อีก ๓ หลัง คืออาคารหลังที่ ๔ ซึ่งเป็นที่รับรองแขกของสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งคราว อาคารหลังที่ ๕ เป็นที่เก็บยานพาหนะของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และอาคารหลังที่ ๖ เป็นกองรักษาการณ์เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
 
ตึกรัฐสภาใหม่เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ได้แล้วเสร็จให้เป็นที่ประชุมได้เมื่อ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๗ ราคาก่อสร้างอาคารทั้งหมดและครุภัณฑ์ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการตกแต่งบริเวณโดยรอบอาคารคิดเป็นเงินประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท
 

©2007 ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
http://www.parliament.go.th/gennews