วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2566เวลา 10.45 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... คนที่สาม รับยื่นหนังสือจาก นายวิสุทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย และคณะ เรื่อง ขอสนับสนุนพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยให้มีการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 2,361 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ พบว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่นี้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมโลก และบริบทของประเทศไทย ดังนี้ 1. การจัดการศึกษาเป็นช่วงวัย (มาตรา 8) มีหน่วยงานจัดการศึกษาให้เหมาะสมตามช่วงวัย คุณภาพกับผู้เรียน 2. ความมีอิสระในการจัดการศึกษาของรัฐบาล เอกชน และผู้ปกครอง พร้อมทั้งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษา (ตามมาตรา 11 วรรค 5 ) 3. มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลหรือกลุ่มนิติบุคคล (มาตรา 22 - 30) 4. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการดูแลเรื่องค่าตอบแทนและวิทยฐานะ (มาตรา 42, 108) 5. มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง 6. มีกองทุนครูของแผ่นดิน สนับสนุนส่งเสริมครูให้ทำงานได้เต็มที่ 7. มีกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสนับสนุนการเรียนการสอนยุคใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนและชุมชน 8. มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาชาติ กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ 9. กระทรวงศึกษาธิการมีเอกภาพในการจัดการศึกษามากขึ้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารงาน การที่สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากร ทางการศึกษาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน เริ่มต้นร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากความมีอิสระของโรงเรียน โดยความคาดหวังว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะดีที่สุด เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนของประเทศต่อไป
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542 และประธานรัฐสภาได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าว ในวันที่ 24 ม.ค. 66 โดยมีสาระสำคัญเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย ครู และบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการดูแลทั้งเกียรติยศและการดำรงชีวิตเป็นอย่างดี และขอฝากเครือข่ายฯ เรียกร้องให้ ส.ส.ในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าจะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันในสมัยการประชุมนี้ |