วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.30 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นางเออร์นา โซลเบิร์ก สมาชิกรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้านราชอาณาจักรนอร์เวย์ (อดีตนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรนอร์เวย์) ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยภายหลังเข้าร่วมการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 43 (43rd General Assembly of the ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมี นายสัตยา อรุณธารี ที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร และนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การรับรอง
โอกาสนี้ ประธานรัฐสภากล่าวต้อนรับและมีความยินดีที่อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์เดินทางมาเยือนรัฐสภาไทย และกล่าวชื่นชมในความสามารถของอดีตนายกรัฐมนตรีว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาตั้งแต่อายุน้อย อีกทั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นสตรีคนที่ 2 ของนอร์เวย์ นอกจากนี้ ไทยและนอร์เวย์ยังมีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ เมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสยุโรปด้วย
ท้งนี้ ประธานรัฐสภาได้กล่าวถามถึงแนวทางความช่วยเหลือของนอร์เวย์แก่ยูเครน ในฐานะประเทศในทวีปยุโรป ในสถานการณ์ที่ถูกทำลายโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ น้ำ และไฟฟ้า ตลอดจนเสนอแนะว่าอาจมีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน
โดยอดีตนายกรัฐมนตรีได้อธิบายถึงแนวทางในการให้ความช่วยเหลือยูเครนว่า นอร์เวย์ได้ให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามที่ได้รับการร้องขอจากยูเครน แต่ยังไม่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ได้ให้ความช่วยเหลือยูเครนในด้านพลังงานด้วย ทั้งนี้ ในภาพรวมประเทศต่าง ๆ และประชาชนในทวีปยุโรปยังคงมีเจตนารมณ์เดียวกันในการให้การสนับสนุนยูเครนต่อไป
ในด้านเศรษฐกิจ ประธานรัฐสภาได้กล่าวชื่นชมที่นอร์เวย์ได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าจากนอร์เวย์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการค้าระหว่างสองประเทศ ไทยยังมีการขาดดุลการค้า แต่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าภายหลังการลงนามความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ระหว่างไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) มูลค่าการค้าระหว่างกันจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประธานรัฐสภาได้กล่าวถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนว่าโดยรวมมีการพัฒนาไปมาก ดังจะเห็นได้เมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุม AIPA ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา แม้ว่าบางประเทศจะเคยประสบปัญหาในอดีต แต่ปัจจุบันได้ก้าวผ่านปัญหาไปได้ ทั้งนี้ ในกรณีของเมียนมาทางไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด
เครดิตข่าว : กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |