|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
นายเอกภพ เพียรพิเศษ โฆษกคณะ กมธ.การสาธารณสุข แถลงข่าวผลการประชุมของคณะ กมธ.
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 24 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565
|
วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายเอกภพ เพียรพิเศษ โฆษกคณะ กมธ.การสาธารณสุข แถลงข่าวผลการประชุมของคณะ กมธ. ว่าในวันนี้มีการพิจารณาเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีการประกาศหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณ 2566 อย่างล่าช้า โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม โดยได้รับการชี้แจงว่า ที่ผ่านมางบประมาณของ สปสช. เป็นงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้กับประชาชนที่ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งสิทธิ์บัตรทองมีการตรากฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2545 โดยระบุในมาตรา 9 และมาตรา 10 ไว้ชัดเจนว่าบุคคลที่เป็นข้าราชการ และบุคคลที่มีประกันสังคม จะใช้หลักประกันสุขภาพต้องมีการตกลงระหว่าง สปสช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาก่อน ซึ่งต้องมีการโอนงบประมาณให้เรียบร้อย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา 9 และ มาตรา 10 แต่ สปสช. เห็นว่า เรื่องหลักประกันสุขภาพ ต้องมีการให้สิทธิ์กับทุกคน จึงออกประกาศให้ทุกสิทธิ์สามารถใช้หลักประกันสุขภาพได้ โดยตั้งแต่จัดตั้ง สปสช.มา จนถึงปีงบประมาณ 2564 เป็นคำของบประมาณแบบรวมที่ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวคูณกับจำนวนประชากรที่ใช้สิทธิ์บัตรทองเท่านั้น จึงเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา สปสช. ใช้งบประมาณถูกต้องหรือไม่ แต่สปสช.อ้างว่าปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งต้องไปติดตามรายละเอียดว่าจะขัดต่อ พ.ร.บ.หรือไม่ และในปีงบประมาณ 2565 มีการแยกงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว กับสิทธิ์อื่นออกจากกัน และ ครม. มีมติมอบให้ สปสช.เป็นผู้ดำเนินการ แต่งบประมาณในปี 2566 กลับไม่มีมติของ ครม. ที่ประชุมคณะ กมธ.จึงเสนอให้ สำนักงบประมาณต้องนำประเด็นดังกล่าวกลับไปขอความเห็นกับ ครม.อีกครั้ง เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป และสำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว คณะ กมธ. เสนอแนะว่า สปสช.จะต้องดำเนินการตามมาตรา 9 และ มาตรา 10 ให้ถูกต้อง นอกจากนี้ คณะอนุ กมธ. พิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านสาธารณสุข ได้ศึกษาการควบคุมบังคับใช้ยาสูบ โดยมีข้อร้องเรียนเรื่องการจับกุมผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคณะอนุ กมธ. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 และมาตรา 246 ไม่ได้ระบุเรื่องการกระทำผิดของผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่สามารถดำเนินความผิดดังกล่าวได้ คณะ อนุ กมธ. จึงเสนอว่าการดำเนินการควบคุมยาสูบต้องมีการทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เชื่อถือได้ การกำจัดบุหรี่ไฟฟ้านั้นทำไม่ได้จริง เพราะตลาดมีการเติบโต และไม่ได้เป็นการปกป้องเยาวชน ส่งผลให้บุหรี่ผิดกฎหมายแพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ คณะ อนุ กมธ. ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด และบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อนจะสายเกินแก้ โดยคณะ อนุ กมธ.จะสรุปเรื่องดังกล่าวเป็นรูปเล่มให้แล้วเสร็จและจะเผยแพร่ให้สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|