วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.10 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีสลายการชุมนุมสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65 อย่างรุนแรง จนทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของตำรวจ คฝ. ทุกกรณี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสื่อมวลชนต่างใส่สัญลักษณ์แสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน (สวมปลอกแขน) ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้สามารถแยกแยะได้ระหว่างสื่อมวลชนกับผู้ชุมนุม ที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีหมายดำที่ พ3683/2564 (คดีกระสุนยาง) ให้ สตช. "..ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน.."ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว น่าสงสัยว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 (เสรีภาพในการแสดงความเห็น) มาตรา 35 (เสรีภาพของสื่อมวลชน) และมาตรา 36 (เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร) หรือไม่ อีกทั้ง ยังมีนักวิชาการด้านกฎหมายท้วงติงว่า การสลายการชุมนุม ในครั้งนี้ ยังอาจเป็นการสลายการชุมนุมที่มิชอบตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยดังกล่าว รวมถึงเพื่อยกระดับการทำงานขององค์กรตำรวจให้ได้มาตรฐาน มีความรับผิดชอบ ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือเกินสมควรแก่เหตุ เคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมไปถึงสื่อมวลชน ที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายดาของประชาชนผู้เสียภาษีที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง จึงขอเรียกร้องให้ดำเนินการดังนี้1. ขอให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์วันดังกล่าวว่า เหตุใดตำรวจ คฝ. จึงสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งในคดีกระสุนยาง และใครจะต้องเป็นผู้ "รับผิดชอบ" ต่อเหตุการณ์นี้2. ขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ผบ.ตร. ผบช.น. ผบก.อคฝ. และผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันดังกล่าว มาชี้แจงถึงรายละเอียดปฏิบัติการและวิธีป้องกันไม่ให้เกิด "ซ้ำรอย" ในอนาคต3. ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุม ทั้งจำนวนกำลังพล นโยบายในการควบคุมและสลายการชุมนุม เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ จำนวนกระสุนยางที่เบิกมา - ใช้ไป และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง4. ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบความรับผิดชอบทางวินัยต่อข้าราชการตำรวจที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมซึ่งทำให้ประชาชนหรือสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บของ สตช. หรือ บช.น. ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเหตุการณ์ล่าสุด รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า กมธ.ไม่นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในวันนี้ โดยจะรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมด เพื่อเรียกสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ๒๕๖๔
๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา
เล่าเรื่องในหลวง ร.๙ ภายใน ๒ นาที
วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า
สารานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ