ข้อ ๑๑ การประชุมสภาย่อมเป็นการเปิดเผย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
การประชุมเปิดเผย ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุมได้ตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด และให้ประธานสภาจัดให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องให้แจ้งที่ประชุมทราบ
การประชุมลับ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากประธานเท่านั้น
ข้อ ๑๒ ให้มีการประชุมครั้งแรกภายในสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสามัญหรือวิสามัญของรัฐสภา
การประชุมครั้งต่อไปให้เป็นไปตามมติที่สภากำหนดไว้ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรประธานสภาจะสั่งงดการประชุมครั้งใดก็ได้
ในกรณีที่ประธานสภาเห็นสมควรเรียกประชุมเป็นพิเศษ ให้เรียกประชุมได้
ข้อ ๑๓ การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่เมื่อได้บอกนัดในที่ประชุมแล้ว
การนัดประชุมให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ถ้าประธานสภาเห็นสมควรจะนัดเร็วกว่านั้นก็ได้
ข้อ ๑๔ ให้ส่งระเบียบวาระการประชุมกับเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุม ถ้าประธานสภาเห็นสมควรจะบรรจุเรื่องใดเพิ่มเติมในระเบียบวาระการประชุมอีกก็ได้ แต่ต้องก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน
ข้อ ๑๕ การจัดระเบียบวาระการประชุมให้จัดลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) กระทู้ถาม
(๒) เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
(๓) รับรองรายงานการประชุม
(๔) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
(๕) เรื่องที่ค้างพิจารณา
(๖) เรื่องที่เสนอใหม่
(๗) เรื่องอื่น ๆ
ในกรณีที่ประธานสภาเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน จะจัดไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุมก็ได้ แต่จะจัดไว้ก่อนเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วไม่ได้
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้จัดเรื่องซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเรื่องใดเป็นเรื่องด่วนไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุม ก็ให้ประธานสภาพิจารณาและอาจจัดให้ตามที่คณะรัฐมนตรีขอ
ข้อ ๑๖ ก่อนเข้าประชุมทุกครั้งให้สมาชิกมาประชุมลงชื่อในเอกสารที่จัดไว้หรือแสดงตนตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด
เมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ถาม ถ้ามีสมาชิกลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมพิจารณาได้
เมื่อมีสมาชิกมาลงชื่อครบองค์ประชุมและมีสัญญาณให้เข้าประชุมแล้ว ให้ประธานดำเนินการประชุมได้
เมื่อประธานขึ้นบัลลังก์ ให้ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมยืนขึ้นจนกว่าประธานได้นั่งลง
ข้อ ๑๗ เมื่อพ้นกำหนดประชุมไปสามสิบนาทีแล้ว สมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุมประธานจะสั่งให้เลื่อนการประชุมไปก็ได้
ข้อ ๑๘ เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกตั้งประธานสภาและรองประธานสภาตามข้อ ๕ และข้อ ๖ หรือเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกตั้งประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้นในกรณีที่ที่ประชุมต้องประชุมปรึกษาเรื่องอื่น
ในการเลือกประธานเฉพาะคราว ให้นำความในข้อ ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่การลงคะแนนให้กระทำตามข้อ ๗๔ (๑)
ข้อ ๑๙ การประชุมสภา ให้ที่ประชุมพิจารณาเฉพาะเรื่องที่มีอยู่ในระเบียบวาระการประชุม และต้องดำเนินการพิจารณาตามลำดับระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้ เว้นแต่ที่ประชุมจะลงมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๒๐ ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุม ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เมื่อประธานอนุญาตแล้ว จึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานเท่านั้น
ข้อ ๒๑ ถ้ารัฐมนตรีขอแถลงหรือชี้แจงเรื่องใดต่อที่ประชุม ให้ประธานพิจารณาอนุญาต
สมาชิกอาจซักถามเพื่อความกระจ่างแจ้งในเรื่องที่แถลงหรือชี้แจงนั้น แต่รัฐมนตรีจะไม่ตอบก็ได้ ถ้าเห็นว่าข้อซักถามนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
ข้อ ๒๒ ในกรณีที่สภาพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้ผู้แทนขององค์กรนั้นมีสิทธิเข้าแถลงหรือชี้แจงต่อที่ประชุมได้ เมื่อประธานอนุญาต
ข้อ ๒๓ ประธานมีอำนาจปรึกษาที่ประชุมในปัญหาใด ๆ สั่งพักการประชุม เลื่อนการประชุม หรือเลิกการประชุมได้ตามที่เห็นสมควร
ถ้าประธานลงจากบัลลังก์โดยไม่ได้สั่งอย่างใด และไม่มีรองประธานปฏิบัติหน้าที่แทน ให้เลิกการประชุม
ข้อ ๒๔ รายงานการประชุมสภา เมื่อคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมตรวจแล้ว ก่อนที่จะเสนอให้สภารับรอง ให้ทำสำเนาวางไว้ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ณ บริเวณสภา เพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้
รายงานการประชุมทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกที่มาประชุม ที่ลาการประชุม ที่ขาดการประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง
สมาชิกมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมดังกล่าวให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม ถ้าคณะกรรมาธิการไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอให้สภาวินิจฉัย
ข้อ ๒๕ รายงานการประชุมสภาครั้งใด เมื่อได้วางสำเนาไว้เพื่อให้สมาชิกตรวจดูแล้ว ถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมเองหรือโดยสมาชิกขอแก้ไขเพิ่มเติมก็ตาม ในคราวที่สภาพิจารณารับรองรายงานการประชุมนั้น คณะกรรมาธิการจะต้องแถลงต่อที่ประชุมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
ข้อ ๒๖ เมื่อสภาได้รับรองรายงานการประชุมสภาครั้งใดแล้ว ให้ประธานสภาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
รายงานการประชุมที่ได้รับรองแล้ว แต่ประธานสภายังมิได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานหรือรายงานการประชุมที่ยังมิได้มีการรับรองเพราะเหตุที่อายุของสภาสิ้นสุดลง ให้เลขาธิการบันทึกเหตุนั้นไว้ และเป็นผู้รับรองความถูกต้องของรายงานการประชุมนั้น
ข้อ ๒๗ สภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกเหตุการณ์ไว้
ข้อ ๒๘ การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้คณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมพิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อให้สภามีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่
ข้อ ๒๙ สภาอาจมีมติห้ามโฆษณาข้อความอันเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ที่ได้กล่าวหรือปรากฏในการประชุมก็ได้
ข้อ ๓๐ ในกรณีที่สมาชิกกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์อันอาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกได้รับความเสียหาย เมื่อบุคคลนั้นร้องขอภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมครั้งนั้น ให้ประธานสภาจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่มีการร้องขอ
ให้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องเป็นหนังสือพร้อมคำชี้แจงประกอบข้อเท็จจริงต่อประธานสภา เพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจง คำร้องและคำชี้แจงประกอบนั้น ต้องชัดเจนและอยู่ในประเด็นที่ผู้ร้องอ้างว่าก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น
ข้อ ๓๑ ให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมานั้นเป็นไปตามข้อ ๓๐ หรือไม่
ให้ประธานสภาวินิจฉัยคำร้องและคำชี้แจงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
คำวินิจฉัยของประธานสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด
ข้อ ๓๒ ในกรณีที่ประธานสภาวินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจงไม่เป็นไปตามข้อ ๓๐ ให้ยกคำร้องเสีย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ
ข้อ ๓๓ ในกรณีที่ประธานสภาได้วินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจงเป็นไปตามข้อ ๓๐ ให้ประธานสภาปิดประกาศคำชี้แจงไม่น้อยกว่าเจ็ดวันไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนอาจเข้าไปตรวจสอบได้ และโฆษณาโดยวิธีการอื่นที่ประธานสภาเห็นสมควร
ข้อ ๓๔ เมื่อประธานสภาดำเนินการตามข้อ ๓๓ แล้ว ให้แจ้งผู้ร้อง ผู้กล่าวถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และที่ประชุมสภารับทราบ
ข้อ ๓๕ ให้เลขาธิการเป็นผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมสภา ทั้งนี้ นอกจากรายงานการประชุมลับที่สภามีมติไม่ให้เปิดเผย
ข้อ ๓๖ ภายใต้บังคับข้อ ๗๕ ให้เลขาธิการจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนและปิดประกาศบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนอาจเข้าไปตรวจสอบได้