(๒) คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ รวมทั้งประสานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ ประชาคมนานาชาติเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ
(๓) คณะกรรมาธิการการกีฬา
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการกีฬาของชาติ รวมทั้งศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการกีฬาของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(๔) คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรม การสหกรณ์ การพัฒนาการผลิตและการตลาด สินค้าเกษตรรวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการพัฒนาการเกษตร
(๕) คณะกรรมาธิการการคมนาคม
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคมนาคมทั้งการจราจรทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางอวกาศ การขนส่งมวลชนการขนส่งสินค้า และการพาณิชย์นาวี
(๖) คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
(๗) คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง การธนาคาร ตลาดเงิน ตลาดทุน และสถาบันการเงินของประเทศ
(๘) คณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม
มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบรายงานการประชุม และพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดเผยรายงานการประชุมลับ
(๙) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถานการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันอาจส่งผลกระทบต่อการต่างประเทศ รวมทั้งภาพลักษณ์ของประเทศ
(๑๐) คณะกรรมาธิการการตำรวจ
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย การป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
(๑๑) คณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในด้านงบประมาณ ติดตามและประเมินผล การรับ การใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ
(๑๒) คณะกรรมาธิการติดตามการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
(๑๓) คณะกรรมาธิการติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาผู้แทนราษฎร
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมติของสภาผู้แทนราษฎร
(๑๔) คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศึกษาปัญหาการใชการป้องกัน การแก้ไข และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๑๕) คณะกรรมาธิการการทหาร
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการทหาร การป้องกันและรักษาความมั่นคงของประเทศ
(๑๖) คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และการแก้ไขปัญหาอุปสรรค รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยว
(๑๗) คณะกรรมาธิการการปกครอง
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาระบบราชการและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๑๘) คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
(๑๙) คณะกรรมาธิการการพลังงาน
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหาร การส่งเสริมพัฒนา การจัดหา การใช้ การอนุรักษ์พลังงาน และผลกระทบจากการจัดหาและการใช้พลังงาน
(๒๐) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและเผยแพร่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุข แผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๒๑) คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อการเศรษฐกิจของชาติ ของธุรกิจภาคเอกชน ประชาชน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ ในสังคมโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งนโยบายและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ
(๒๒) คณะกรรมาธิการการพาณิชย์
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการค้า การส่งออก ดุลการค้า ลิขสิทธิ์ ตราสาร ทะเบียน รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา
(๒๓) คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
(๒๔) คณะกรรมาธิการการแรงงาน
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการแรงงานในประเทศ และแรงงานไทยในต่างประเทศ
(๒๕) คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๒๖) คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา การอนุรักษ์ศิลปะ การรักษาประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และเอกลักษณ์ไทย
(๒๗) คณะกรรมาธิการการศึกษา
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาและพัฒนาการศึกษาของชาติ
(๒๘) คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การให้สวัสดิการ การประกันสังคม การป้องกันอุบัติภัย การสงเคราะห์ดูแลฟื้นฟูผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ในเมืองและชนบท และผู้ด้อยโอกาสในสังคม
(๒๙) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนและชุมชน
(๓๐) คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสาร สารสนเทศ และโทรคมนาคม
(๓๑) คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม
มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งศึกษาผลกระทบอันเกิดจากอุตสาหกรรม
หากมีความจำเป็นจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญคณะอื่นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ สมาชิกคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญได้ไม่เกินสองคณะ
เมื่อมีการเสนอญัตติหรือเรื่องใด ๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ให้คณะกรรมาธิการรายงานให้ประธานสภาทราบ ในกรณีเป็นที่สงสัยว่า การพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ นั้น อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญหลายคณะ ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภา ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องเป็นผู้วินิจฉัย
ข้อ ๘๑ การเลือกตั้งคณะกรรมาธิการ สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้ไม่เกินจำนวนกรรมาธิการ การเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าห้าคน
การเลือกตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ให้ตั้งจากบุคคลที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จำนวนนอกจากนั้นให้ที่ประชุมเลือกจากรายชื่อที่สมาชิกเสนอ โดยให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมาธิการ ถ้ามีการเสนอชื่อกรรมาธิการเท่ากับจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อมากกว่าจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
ข้อ ๘๒ การเลือกตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก สตรี และคนชรา หรือผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ ให้ตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนองค์การเอกชนประเภทนั้น จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดและตั้งจากบุคคลที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อไม่เกินหนึ่งในหกของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดจำนวนกรรมาธิการนอกจากนั้นให้ที่ประชุมเลือกจากรายชื่อที่สมาชิกเสนอ โดยให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
การคัดเลือกและการเสนอชื่อกรรมาธิการในส่วนของผู้แทนองค์การเอกชนตามวรรคหนึ่งเพื่อให้สภาเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด
ข้อ ๘๓ การประชุมคณะกรรมาธิการ ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในการประชุมคณะกรรมาธิการที่จะมีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๘๔ การประชุมคณะกรรมาธิการ ให้นำข้อบังคับนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับการประชุมสภามาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้คณะกรรมาธิการแต่ละคณะเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขานุการ โฆษก และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็นจากกรรมาธิการในคณะนั้น
ประธานคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะ จะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
ข้อ ๘๕ เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ หรือมีแต่ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ในกรณีที่มีรองประธานคณะกรรมาธิการหลายคน ให้รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการ ถ้ารองประธานคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่งไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานคณะกรรมาธิการลำดับต่อไปเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการ
ข้อ ๘๖ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน คณะกรรมาธิการสามัญอาจตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภากำหนดด้วยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันของประธานคณะกรรมาธิการสามัญ
ข้อ ๘๗ คณะกรรมาธิการมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาปัญหาอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ แล้วรายงานคณะกรรมาธิการภายในเวลาที่คณะกรรมาธิการกำหนด
ในกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ให้ประธานคณะอนุกรรมาธิการขออนุญาตขยายเวลาต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ
คณะอนุกรรมาธิการแต่ละคณะประกอบด้วยอนุกรรมาธิการมีจำนวนไม่เกินสิบคน โดยให้ตั้งจากบุคคลที่เป็นกรรมาธิการในคณะนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนอนุกรรมาธิการทั้งหมด จำนวนนอกจากนั้นให้ที่ประชุมเลือกจากรายชื่อที่กรรมาธิการเสนอ
ข้อ ๘๘ การเรียกเอกสารจากบุคคลใด ๆ หรือเรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่ ให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อประธานคณะกรรมาธิการหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการ
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งให้รัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้นสังกัดทราบและมีคำสั่งให้บุคคลนั้นดำเนินการ
ข้อ ๘๙ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ สมาชิก รัฐมนตรี และผู้ซึ่งประธานของที่ประชุมอนุญาต มีสิทธิเข้าฟังการประชุม
ในกรณีประชุมลับ ผู้ที่จะเข้าฟังการประชุมได้ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมและได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุม
ข้อ ๙๐ ภายใต้บังคับข้อ ๘๙ ผู้เสนอญัตติ รัฐมนตรี และผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายมีสิทธิชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการได้ตลอดเรื่อง ส่วนผู้แปรญัตติมีสิทธิชี้แจงแสดงความคิดเห็นได้เฉพาะที่แปรญัตติไว้
การชี้แจงแสดงความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง ผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้สมาชิกอื่นหรือกรรมาธิการคนใดคนหนึ่งกระทำการแทนได้
ข้อ ๙๑ ให้เลขาธิการประกาศกำหนดการประชุมคณะกรรมาธิการไว้ ณ บริเวณสภา และมีหนังสือนัดผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติมาชี้แจงประกอบญัตติหรือคำแปรญัตติ แล้วแต่กรณี ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน หากเรื่องใดจะก่อให้เกิดผลใช้บังคับเป็นกฎหมายหรือเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบด้วย
ข้อ ๙๒ ถ้าผู้แปรญัตติหรือผู้รับมอบหมายไม่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการตามนัดจนเวลาล่วงไปเกินกว่าสามสิบนาทีนับแต่เวลาที่ได้เริ่มพิจารณาคำแปรญัตติใด ให้คำแปรญัตตินั้นเป็นอันตกไป เว้นแต่คณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนั้นยังไม่เสร็จหรือที่ประชุมอนุญาตให้เลื่อนการชี้แจงไปวันอื่น
ข้อ ๙๓ ถ้าผู้แปรญัตติหรือผู้รับมอบหมายไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมาธิการในข้อใด จะสงวนคำแปรญัตติในข้อนั้นไว้เพื่อขอให้สภาวินิจฉัยก็ได้
ข้อ ๙๔ กรรมาธิการผู้ใดไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมาธิการในข้อใดจะสงวนความเห็นในข้อนั้นไว้เพื่อขอให้สภาวินิจฉัยก็ได้
ข้อ ๙๕ เมื่อคณะกรรมาธิการได้กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ตามอำนาจหน้าที่หรือตามที่สภามอบหมายเสร็จแล้วให้รายงานต่อสภา
ในที่ประชุมสภา คณะกรรมาธิการมีสิทธิแถลง ชี้แจง หรือแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ในการนี้ คณะกรรมาธิการอาจมอบหมายให้บุคคลใดแถลงหรือชี้แจงแทนก็ได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากประธาน
ข้อ ๙๖ ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ถ้าคณะกรรมาธิการเห็นว่ามีข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรีควรทราบหรือควรปฏิบัติ ก็ให้บันทึกข้อสังเกตดังกล่าวไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการ เพื่อให้สภาพิจารณา
ในกรณีที่สภาเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ให้ประธานสภาส่งรายงานและข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ประธานสภาส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการให้คณะรัฐมนตรีทราบ คณะรัฐมนตรีได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตนั้นประการใดหรือไม่ ให้ประธานสภาแจ้งให้ที่ประชุมทราบในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภา
ข้อ ๙๗ ถ้าสภามีมติให้คณะกรรมาธิการใดกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดให้เสร็จภายในกำหนดเวลาใด และคณะกรรมาธิการนั้นกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ประธานคณะกรรมาธิการต้องรายงานให้ประธานสภาทราบโดยด่วน
ในกรณีดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ถ้าอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสามัญทั่วไป ให้ประธานสภารีบเสนอต่อที่ประชุม และที่ประชุมอาจลงมติให้ขยายเวลาที่ได้กำหนดไว้หรือให้ตั้งคณะกรรมาธิการใหม่แทนคณะเดิม หรือให้ดำเนินการอย่างอื่นสุดแต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร แต่ถ้าอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติหรือนอกสมัยประชุม ก็ให้ประธานสภามีอำนาจอนุญาตให้ขยายเวลาที่กำหนดไว้ได้ตามที่พิจารณาเห็นสมควร แล้วแจ้งให้สภาทราบภายหลัง
การนับระยะเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สภามีมติกำหนดระยะเวลา
ข้อ ๙๘ กรรมาธิการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีการตั้งคณะกรรมาธิการใหม่แทนคณะเดิม
(๕) สภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
(๖) ขาดการประชุมสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการทราบ
ข้อ ๙๙ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการใดว่างลง ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งเป็นหนังสือต่อประธานสภา เพื่อขอให้สภาตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง