หน้าหลัก
Untitled Document
  ค้นหา :
 
« ธันวาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
1 2 3 4 5 6 7
8 9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28
29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

คลิกอ่านข่าววิทยุรัฐสภา

ห้องข่าว >> ข้อมูลข่าวในอดีต >> ข้อมูลการประชุม >> ข้อบังคับการประชุม >> ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฉบับปัจจุบัน
[ เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๗๙ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ] [ หมวด ๓ ] [ หมวด ๔ ] [ หมวด ๕ ] [ หมวด ๖ ] [ หมวด ๗ ] [ หมวด ๘ ] [ หมวด ๙ ] [ หมวด ๑๐ ] [ หมวด ๑๑ ] [ หมวด ๑๐ ] [ หมวด ๑๑ ] [ หมวด ๑๒ ] [ หมวด ๑๓ ] [ หมวด ๑๔ ] [ บทเฉพาะกาล ]
หมวด ๕


หมวด ๕
การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

---------------------
 

 

          ข้อ ๑๐๐ ร่างพระราชบัญญัติต้องแบ่งเป็นมาตรา และต้องมีบันทึกประกอบดังต่อไปนี้
          (๑) หลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ
          (๒) เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ
          หลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น ให้กำหนดโดยชัดแจ้ง

          ข้อ ๑๐๑ ร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกเสนอต่อสภา ให้ประธานสภาทำการตรวจสอบและหากมีข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาแจ้งสมาชิกนั้นทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับ

          ข้อ ๑๐๒ ในกรณีที่ประธานสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติซึ่งสมาชิกเป็นผู้เสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาแจ้งให้ผู้เสนอทราบ หากผู้เสนอไม่คัดค้านความเห็นของประธานสภาภายในเจ็ดวันนับแต่วันส่งคำแจ้ง ให้ถือว่าไม่มีกรณีเป็นที่สงสัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๙ ก็ให้ประธานสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้คำรับรอง
          หากผู้เสนอแจ้งคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย

          ข้อ ๑๐๓ ให้ประธานสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะเพื่อพิจารณากรณีตามข้อ ๑๐๒ วรรคสอง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว
          การประชุมร่วมกันของประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินให้นำข้อบังคับการประชุมนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับการประชุมสภามาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ข้อ ๑๐๔ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้กระทำเป็นสามวาระตามลำดับ

          ข้อ ๑๐๕ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่หนึ่ง ให้สภาพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น
          เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยดังกล่าวในวรรคหนึ่ง สภาจะให้คณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้
          ในกรณีที่สภามีมติให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันหลายฉบับรวมกัน สภาจะลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับหรือทั้งหมดรวมกันก็ได้ และเมื่อสภาได้มีมติรับหลักการแล้ว ให้สภาลงมติว่าจะให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับใดเป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่สอง

          ข้อ ๑๐๖ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกเป็นผู้เสนอ ถ้าคณะรัฐมนตรีขอรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไปพิจารณาก่อนที่สภาจะลงมติตามข้อ ๑๐๕ ก็ให้รอการพิจารณาไว้ก่อน เมื่อที่ประชุมอนุมัติ แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่สภามีมติ
          เมื่อประธานสภาได้รับร่างพระราชบัญญัติคืนจากคณะรัฐมนตรีหรือพ้นกำหนดเวลาที่รอการพิจารณาตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บรรจุร่างพระราชบัญญัตินั้นเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน

          ข้อ ๑๐๗ ในกรณีที่สภามีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติให้สภาพิจารณาตามลำดับต่อไปเป็นวาระที่สอง
          การพิจารณาในวาระที่สอง ให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ

          ข้อ ๑๐๘ ตามปกติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการสภาจะให้คณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้พิจารณาก็ได้
          การพิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภาจะกระทำได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีร้องขอหรือเมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนและที่ประชุมอนุมัติ
          คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น

          ข้อ ๑๐๙ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมาธิการอาจขอให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมาธิการก็ได้

          ข้อ ๑๑๐ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติขั้นคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งสมาชิกผู้ใดเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ ก็ให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันถัดจากวันที่สภารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ เว้นแต่สภาจะได้กำหนดเวลาแปรญัตติสำหรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้เป็นอย่างอื่น
          การแปรญัตติต้องแปรเป็นรายมาตรา
          การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนรือแก้ไขมาตราเดิมต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น

          ข้อ ๑๑๑ เมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้วให้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น โดยแสดงร่างเดิมและการแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมทั้งรายงานต่อประธานสภา รายงานนั้นอย่างน้อยต้องระบุว่าได้มีหรือไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา
ใดบ้าง และถ้ามีการแปรญัตติ มติของคณะกรรมาธิการเกี่ยวด้วยคำแปรญัตตินั้นเป็นประการใดหรือมีการสงวนคำแปรญัตติของผู้แปรญัตติ หรือมีการสงวนความเห็นของกรรมาธิการก็ให้ระบุไว้ในรายงานด้วย
          ในกรณีที่คณะกรรมาธิการเห็นว่ามีข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรีควรทราบหรือควรปฏิบัติ ให้บันทึกข้อสังเกตดังกล่าวนั้นไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการเพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณา และให้นำความในข้อ ๙๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ข้อ ๑๑๒ ร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกเป็นผู้เสนอและในขั้นรับหลักการไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน แต่ในการพิจารณาในวาระที่สอง ถ้าสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราใดและประธานสภาเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาสั่งระงับการลงมติในวาระที่สามไว้ก่อนและส่งให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว และให้นำความในข้อ ๑๐๒ และข้อ ๑๐๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ข้อ ๑๑๓ เมื่อประธานสภาได้รับแจ้งเรื่องการรับรองร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจากนายกรัฐมนตรีตามข้อ ๑๑๒ แล้ว ให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน

          ข้อ ๑๑๔ ในกรณีที่สภามีมติให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยกรรมาธิการเต็มสภา ให้ถือว่าสมาชิกทุกคนในที่ประชุมประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการ และประธานของที่ประชุมมีฐานะเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้วย
          การพิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา เป็นการพิจารณาขั้นคณะกรรมาธิการและการพิจารณาของสภาในวาระที่สองเรียงตามลำดับมาตรารวมกันไป

          ข้อ ๑๑๕ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราและให้สมาชิกอภิปรายได้เฉพาะถ้อยคำหรือข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือที่มีการสงวนคำแปรญัตติ หรือที่มีการสงวนความเห็นไว้ ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมจะลงมติเป็นอย่างอื่น
          การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม ให้พิจารณาเรียงตามลำดับมาตราที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายเดิมด้วย และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ข้อ ๑๑๖ เมื่อได้พิจารณาตามข้อ ๑๑๕ จนจบร่างแล้ว ให้สภาพิจารณาทั้งร่างเป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่ง และในการพิจารณาครั้งนี้สมาชิกอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำได้ แต่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความใดไม่ได้ นอกจากเนื้อความที่เห็นว่ายังขัดแย้งกันอยู่

          ข้อ ๑๑๗ เมื่อได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองเสร็จแล้ว ให้สภาลงมติในวาระที่สามว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบโดยไม่มีการอภิปราย

          ข้อ ๑๑๘ ในกรณีที่สภาลงมติในวาระที่หนึ่งไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติก็ดี หรือลงมติในวาระที่สามไม่เห็นชอบก็ดี ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป เว้นแต่ร่างพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๗๓ ของรัฐธรรมนูญ

          ข้อ ๑๑๙ ร่างพระราชบัญญัติใดต้องยับยั้งไว้โดยบทบัญญัติมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญ เมื่อกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๗๖ ของรัฐธรรมนูญได้ล่วงพ้นไป ประธานอาจขอปรึกษาที่ประชุม หรือสมาชิกอาจเสนอญัตติให้ยกร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้นั้นขึ้นเพื่อให้สภาพิจารณาลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างของคณะกรรมาธิการร่วมกัน

          ข้อ ๑๒๐ ในกรณีที่สภามีมติในวาระที่สามเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติใด ให้ประธานสภาดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา
          ให้มีสารบบลงวันที่สภาส่งร่างพระราชบัญญัติไปยังวุฒิสภา และวันที่สภาได้รับร่างพระราชบัญญัติคืนจากวุฒิสภา

          ข้อ ๑๒๑ ในกรณีที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติที่ได้เสนอไปตามข้อ ๑๒๐ ให้ประธานสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้สภาพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาหรือไม่
          ถ้าสภาไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ประธานดำเนินการ ให้สภากำหนดจำนวนและตั้งกรรมาธิการร่วมกัน เมื่อสภาได้กำหนดจำนวนและตั้งกรรมาธิการร่วมกันแล้วให้ประธานสภาแจ้งไปยังวุฒิสภา
          เมื่อคณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้วให้เสนอรายงานและร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อประธานสภา เพื่อให้สภาพิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน
ได้พิจารณาแล้ว

ร้องเรียน / ร้องทุกข์ หนังสือและสื่อเผยแพร่ ติดต่อรัฐสภา