หน้าหลัก
Untitled Document
  ค้นหา :
 
« ธันวาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
1 2 3 4 5 6 7
8 9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28
29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

คลิกอ่านข่าววิทยุรัฐสภา


ห้องข่าว >> ข้อมูลข่าวในอดีต >> ข้อมูลการประชุม >> ข้อบังคับการประชุม >> ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาฉบับปัจจุบัน
[ หมวด ๑ ] [ หมวด ๒ ] [ หมวด ๓ ] [ หมวด ๔ ] [ หมวด ๕ ] [ หมวด ๖ ] [ หมวด ๗ ] [ หมวด ๘ ] [ หมวด ๙ ] [ หมวด ๑๐ ]
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
พ.ศ. ๒๕๔๔
----------------------------------
   

 

          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙๓ (๑๑) มาตรา ๑๙๔ และมาตรา ๓๑๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐสภาจึงตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
          ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๔"

          ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้ คำว่า
          "รัฐสภา" หมายถึง รัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และให้หมายความรวมถึงวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบตามมาตรา ๑๖๘ (๑) ของรัฐธรรมนูญด้วย
          "ประธาน" หมายถึง ประธานของที่ประชุมรัฐสภา
          "สมาชิกรัฐสภา" หมายถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
          "การประชุมรัฐสภา" หมายถึง การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้หมายความรวมถึงการประชุมวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ
          "ที่ประชุมรัฐสภา" หมายถึง ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้หมายความรวมถึงที่ประชุมวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบด้วย
          "เลขาธิการรัฐสภา" หมายถึง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธานรัฐสภาให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาธิการรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาตามข้อบังคับนี้
          "รองเลขาธิการรัฐสภา" หมายถึง เลขาธิการวุฒิสภาซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธานรัฐสภาให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นรองเลขาธิการรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาตามข้อบังคับนี้

          ข้อ ๔ ให้ประธานรัฐสภารักษาการตามข้อบังคับ และมีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
   
หมวด ๑
อำนาจและหน้าที่ของประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา
และหน้าที่ของเลขาธิการรัฐสภาและรองเลขาธิการรัฐสภา
-----------------------------
  

 

          ข้อ ๕ ประธานรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา
          (๒) กำหนดการประชุมรัฐสภา
          (๓) ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
          (๔) รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณของรัฐสภา
          (๕) เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
          (๖) แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ ตาม (๗)
          (๗) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

          ข้อ ๖ รองประธานรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ช่วยประธานรัฐสภาในกิจการอันเป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานรัฐสภาหรือปฏิบัติการตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย
          เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา หรือมีแต่ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานรัฐสภาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภา

          ข้อ ๗ เลขาธิการรัฐสภามีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) นัดประชุมคณะกรรมาธิการครั้งแรก
          (๒) เชิญผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมคณะกรรมาธิการเข้าปฏิบัติหน้าที่
          (๓) ช่วยประธานในการควบคุมการนับคะแนนเสียง
          (๔) จัดทำรายงานการประชุมรัฐสภาและบันทึกการออกเสียงลงคะแนน
          (๕) ยืนยันมติของรัฐสภาไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
          (๖) รักษาสรรพเอกสารและโสตทัศนวัสดุ
          (๗) ควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด
          (๘) ปฏิบัติการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
          (๙) ปฏิบัติการอื่นตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย

          ข้อ ๘ รองเลขาธิการรัฐสภามีหน้าที่ช่วยเลขาธิการรัฐสภาในกิจการอันเป็นหน้าที่ของเลขาธิการรัฐสภา หรือปฏิบัติการตามที่เลขาธิการรัฐสภามอบหมาย
          เมื่อไม่มีเลขาธิการรัฐสภา หรือเลขาธิการรัฐสภาไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการรัฐสภา
  
ร้องเรียน / ร้องทุกข์ หนังสือและสื่อเผยแพร่ ติดต่อรัฐสภา