ข้อ ๑๐ การประชุมรัฐสภาให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓ ของรัฐธรรมนูญ
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๖๓ ของรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลภายในสามวันของวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
เมื่อได้มีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาแล้วให้แจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทราบ
ข้อ ๑๒ การนัดประชุมรัฐสภาต้องทำเป็นหนังสือ และให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ประธานรัฐสภาเห็นสมควรจะนัดเร็วกว่านั้นก็ได้
ข้อ ๑๓ ให้ส่งระเบียบวาระการประชุมรัฐสภากับเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุมรัฐสภา ถ้าประธานรัฐสภาเห็นสมควรจะบรรจุเรื่องใดเพิ่มเติมในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาอีกก็ได้ แต่ต้องก่อนวันนัดประชุมรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน
ข้อ ๑๔ การจัดระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาให้จัดตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
(๒) รับรองรายงานการประชุม
(๓) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
(๔) เรื่องที่ค้างพิจารณา
(๕) เรื่องที่เสนอใหม่
(๖) เรื่องอื่น ๆ
ในกรณีที่ประธานรัฐสภาเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน จะจัดไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาก็ได้
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้จัดเรื่องซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน ก็ให้ประธานรัฐสภาพิจารณาและอาจจัดให้ตามที่คณะรัฐมนตรีขอ
ข้อ ๑๕ ให้มีสมุดวางไว้สำหรับสมาชิกรัฐสภาลงชื่อก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง เมื่อมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
เมื่อมีสมาชิกรัฐสภามาลงชื่อครบองค์ประชุมและมีสัญญาณให้เข้าประชุมแล้วให้ประธานดำเนินการประชุมได้
เมื่อประธานขึ้นบัลลังก์ให้ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมรัฐสภายืนขึ้นจนกว่าประธานได้นั่งลง
ในกรณีอ่านพระบรมราชโองการหรือกระแสพระราชดำรัส ให้ผู้อยู่ในที่ประชุมรัฐสภายืนฟังตลอดเวลาที่อ่าน
ข้อ ๑๖ เมื่อพ้นกำหนดประชุมรัฐสภาไปสามสิบนาทีแล้ว สมาชิกรัฐสภายังไม่ครบองค์ประชุม ประธานจะสั่งให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาไปก็ได้
ข้อ ๑๗ เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกรัฐสภาผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้น
ข้อ ๑๘ การประชุมรัฐสภา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาตามเรื่องที่มีอยู่ในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา และต้องดำเนินการพิจารณาตามลำดับระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาที่จัดไว้ ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๑๙ ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะเมื่อประธานอนุญาตแล้ว จึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานเท่านั้น
ข้อ ๒๐ ถ้ารัฐมนตรีขอแถลงหรือชี้แจงเรื่องใดต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้ประธานพิจารณาอนุญาต
สมาชิกรัฐสภาอาจซักถามเพื่อความกระจ่างในเรื่องที่แถลงหรือชี้แจงนั้น แต่รัฐมนตรีจะไม่ตอบก็ได้ เมื่อเห็นว่าข้อซักถามนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
ข้อ ๒๑ ประธานมีอำนาจปรึกษาที่ประชุมรัฐสภาในปัญหาใด ๆ สั่งพักการประชุมรัฐสภา เลื่อนการประชุมรัฐสภา หรือเลิกการประชุมรัฐสภาได้ตามที่เห็นสมควร
ถ้าประธานลงจากบัลลังก์โดยมิได้สั่งอย่างใด ให้เลิกการประชุมรัฐสภา
ข้อ ๒๒ รายงานการประชุมรัฐสภา เมื่อเลขาธิการรัฐสภาจัดทำเสร็จแล้ว ให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะเสนอให้รัฐสภารับรองให้ทำสำเนาวางไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแห่งละสามฉบับไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตรวจดูได้
รายงานการประชุมรัฐสภาทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกรัฐสภาที่มาประชุม ที่ลาการประชุม ที่ขาดการประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง
สมาชิกรัฐสภามีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมรัฐสภาดังกล่าว ให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อเลขาธิการรัฐสภา ถ้าเลขาธิการรัฐสภาไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกรัฐสภาผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอให้รัฐสภาวินิจฉัย
ข้อ ๒๓ รายงานการประชุมรัฐสภาครั้งใด เมื่อได้วางสำเนาไว้เพื่อให้ สมาชิกรัฐสภาตรวจดูแล้ว ถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยสมาชิกรัฐสภาขอให้แก้ไขเพิ่มเติม ในคราวที่รัฐสภาพิจารณารับรองรายงานการประชุมรัฐสภานั้น เลขาธิการรัฐสภาจะต้องแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาถึงการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
ข้อ ๒๔ เมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้รับรองรายงานการประชุมรัฐสภาครั้งใดแล้ว ให้ประธานรัฐสภาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
รายงานการประชุมรัฐสภาที่ยังมิได้มีการรับรองเพราะเหตุที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้เลขาธิการรัฐสภาบันทึกเหตุนั้นไว้และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๒๕ ที่ประชุมรัฐสภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกเหตุการณ์ไว้
ข้อ ๒๖ การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐสภา
ข้อ ๒๗ ที่ประชุมรัฐสภาอาจมีมติห้ามโฆษณาข้อความอันเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ที่ได้กล่าวหรือปรากฏในการประชุมรัฐสภาก็ได้
ข้อ ๒๘ ให้เลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมรัฐสภาทั้งนี้ นอกจากรายงานการประชุมลับที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้เปิดเผย