|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวรัฐสภา |
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ และรับข้อเสนอจาก นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยและคณะ
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 11 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565
|
วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 11.10 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 607 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ และรับข้อเสนอจาก นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยและคณะ เพื่อทวงคืนสภาครู โดยมีนายนพคุณ รัฐผไท ประธานคณะ กมธ.การศึกษา รศ.สุรวาท ทองบุ ที่ปรึกษาคณะ กมธ.การศึกษา และรองประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... คนที่หก และผู้แทนพรรคก้าวไกล นายขจิตร ชัยนิคม รองประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ คนที่สอง นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ คนที่สาม ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และนายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ร่วมให้การรับรอง
ตามที่ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และองค์กรเครือข่าย 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย สหพันธ์ครูภาคเหนือ 16 จังหวัด ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ชมรมครูภาคกลาง 27 จังหวัด และสมาพันธ์ครูภาคใต้ 14 จังหวัด ได้จัดประชุมผู้นำครู "เวทีครูคิดวันปิดภาค" ระหว่างวันที่ 25 เม.ย. - 8 พ.ค. 65 ณ จังหวัดกำแพงเพชร อุดรธานี กาญจนบุรี และพัทลุง โดยมีผู้นำครูทุกจังหวัดเข้าร่วมประชุม ทั้ง 4 เวที มากกว่า 1,000 คน และมีการติดตามผลการประชุมในระบบ Online นับแสนคน ครอบคลุมเป้าหมายครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ ทั้งนี้ เวทีครูคิดวันปิดภาค ได้มีข้อสรุปร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าให้นำข้อสรุปจากการประชุมดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานคณะ กมธ. การศึกษา ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
. โดยมีข้อสรุป คือ ขอให้พิจารณาดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 และ 17/2560 และพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่.. พ.ศ. .... ที่กำลังพิจารณาในชั้นคณะกมธ.โดยแก้ไขมาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 7/2558และ17/2560 และแก้ไขมาตรา 42 โดยบัญญัติให้มีองค์กรวิชาชีพครู เรียกว่าคุรุสภา ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพที่มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การพักใช้ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้ครูทั้งประเทศ ได้คุรุสภาซึ่งเป็นสภาวิชาชีพของครู กลับคืนมาเพื่อบริหารจัดการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. สภาครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เหมือนวิชาชีพอื่น ๆ ในประเทศไทยและสภาวิชาชีพครูของนานาอารยประเทศต่อไป
โดยประธานรัฐสภาได้กล่าวต้อนรับสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย และกล่าวว่า ตนยินดีให้การสนับสนุนกฏหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดี เพื่อจะเป็นประชาชนที่มีคุณภาพในสังคมไทย พร้อมกล่าวว่า ทุกองค์กรมีปัญหาทั้งนั้น แม้กระทั่ง องค์กรศาสนาพุทธของเราก็มีปัญหา เช่น ปัญหาของความประพฤติที่ผิดศีลของพระสงฆ์บางรูป และข่าวเกี่ยวกับพระบิดา ที่ประชาชนหลงเชื่ออย่างงมงาย แต่อย่านำปัญหาเล็ก ๆ นั้นมาเป็นมาตรฐานของพระสงฆ์ทั้งหมด และขอเป็นกำลังใจให้พระคุณเจ้าทั้งประเทศ แม้แต่วัดในประเทศศรีลังกา ก็ประสบปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ตนได้รวบรวมเงินทำบุญจากพุทธศาสนิกชนในรัฐสภา และผู้ใกล้ชิด ได้เงินบริจาคจำนวน 700,000 บาท และได้มอบให้กับนางโกเลนเน อัปปุหามิลาเค จมินทะ อิโนกา โกโลนเน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือพระสงฆ์และประชาชนในสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สำหรับเรื่องทางการศึกษานั้น ตนได้เห็นความสำคัญของคุณภาพการศึกษา ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา และขณะนี้ได้จัดทำโครงการบ้านเมืองสุจริตขึ้น โครงการนี้มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการขยายแนวคิด ปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้แก่บ้านเมืองในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต โดยเริ่มต้นจากเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการดังกล่าวให้มีการเพิ่มการสอนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อเยาวชน มีความสุจริต แล้วจะนำความซื่อสัตย์สุจริต ไปทำงานให้มีความราบรื่นต่อไป
จากนั้น สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ได้มอบข้อเสนอแนะแด่ประธานรัฐสภา และผู้แทนพรรคการเมืองต่าง ๆ |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|