|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
รองประธานคณะ กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม คนที่หนึ่ง พร้อมคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายดำรงค์ ไกรสิทธิ์ ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จ.พิษณุโลกและ จ.พิจิตร
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 28 ๏ฟฝ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565
|
วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ รองประธานคณะ กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม คนที่หนึ่ง พร้อมคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายดำรงค์ ไกรสิทธิ์ ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จ.พิษณุโลกและ จ.พิจิตร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจภายในประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงปีแรกเกษตรกรชาวสวนมะม่วงยังไม่ทันได้ตั้งตัว ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างปิดหมดทำให้ผลผลิตมะม่วงไม่สามารถส่งออกต่างประเทศและค้าขายในประเทศไทยได้ เกษตรกรต้องปล่อยให้ผลมะม่วงตกลงพื้นเพราะไม่คุ้มค่าต่อการเก็บ และในระยะต่อมาเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว ยอดการส่งออกและยอดการค้าขายในประเทศก็ยังน้อยลง จนระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบที่หนักขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและผลิตภัณฑ์เคมีทางการเกษตรและปุ๋ยต่างๆ มีราคาสูงขึ้นตามลำดับ บางชนิดสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ทำให้เกษตรกรชาวสวนมะม่วงต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันราคามะม่วงตกต่ำมากที่สุด ซึ่งก่อนการแพร่ระบาดมะม่วงดิบกิโลกรัมละ 8 - 20 บาทปัจจุบันกิโลกรัมละ 0.50 - 3 บาท มะม่วงสุก อาทิ น้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 ก่อนการแพร่ระบาด กิโลกรัมละ 20 - 40 บาท ปัจจุบันกิโลกรัมละ 6 - 11 บาท ตามเกรด ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนมะม่วงได้รับผลกระทบจากวิกฤตมา 3 ระลอก และรัฐบาลยังไม่มีการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเลย จนเกษตรกรบางรายต้องตัดต้นมะม่วงเพื่อขายไปทำฟืนและนำเงินมาใช้หนี้สิน จึงขอให้คณะ กมธ. พิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือ ดังนี้ 1. มาตรการช่วยเหลือระยะสั้น โดยขอให้รัฐบาลจ่ายเงินเพื่อเยียวยาชาวสวนมะม่วงไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ และขอให้ควบคุมผลิตภัณฑ์เคมีทางการเกษตรและปุ๋ยต่าง ๆ ให้มีราคาที่ถูกลง 2. มาตรการช่วยเหลือระยะยาว โดยขอให้รัฐบาลส่งเสริมตลาดส่งออกจากร้อยละ 15 ให้ถึงร้อยละ 50 เพื่อขยายโอกาสของเกษตรกร และขอให้บรรจุมะม่วงไว้ในบัญชีพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก และประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกมะม่วงมากที่สุดในโลกด้านนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ กล่าวว่า การประชุมคณะ กมธ. ในวันนี้ ได้พิจารณาเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาลำไยและมะม่วงตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยทั้งสิ้นประมาณ 1.7 ล้านไร่ และปลูกมะม่วงประมาณ 1.9 ล้านไร่ ซึ่งคณะ กมธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมในวันนี้ โดยเห็นว่ากระทรวงมหาดไทยจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการกระจายมะม่วงและลำไย รวมทั้งนำมะม่วงและลำไยออกจากพื้นที่ อีกทั้งต้องการให้มีการทบทวนในเรื่องของเงินชดเชยเยียวยาและให้เงินดังกล่าวถึงมือเกษตรกรได้โดยตรง ขณะที่ นายรังสรรค์ มณีรัตน์ โฆษกคณะ กมธ. กล่าวว่า คณะ กมธ. ได้มีมติให้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การชดเชยเยียวยาพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกลำไยไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากลำไยตกต่ำเมื่อปี 2564 และสอบถามถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำในฤดูกาลด้วย น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน โฆษกคณะ กมธ. กล่าวว่า ขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลชดเชยเยียวยาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและลำไยอย่างเร่งด่วน |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|