วันพุธที่ 5 มกราคม 2565 เวลา 12.50 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสัตยา อรุณธารี ที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร และว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อวันที่ 2 ก.ย.64 ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ปรากฏว่า ไม่มีประจักษ์พยาน หรือไม่มีพยานแวดล้อมเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายกรัฐมนตรีจ่ายเงินให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ลงคะแนนไว้วางใจให้กับนายกรัฐมนตรีภายในอาคารรัฐสภา ในคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อ วันพฤหัสที่ 2 ก.ย. 64 ตามที่นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด
โดยเมื่อคราวดังกล่าว นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ได้กล่าวหาว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี จ่ายเงินให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 5 ล้านบาท บริเวณห้องนายกรัฐมนตรี ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำนี้ไม่เหมาะสม ส่อไปในทางทุจริต เพื่อต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อ ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งสภาผู้แทนราษฎรที่ 22 / 2564 ลงวันที่ 4 ก.ย.64 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยมี คณะกรรมการจำนวน 5 ท่าน ได้แก่ 1. นางพรพิศ เพชรเจริญ เป็นประธานกรรมการ 2. นายสัตยา อรุณธารี เป็นกรรมการ 3. ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เป็นกรรมการ 4. นายกิตติพศ กำเนิดฤทธิ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ 5. นายศิลาชัย บวรกสิณธรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการได้ขอขยายระยะเวลาจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 64 คณะกรรมการได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ แนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตามที่ปรากฏในรายงานที่ส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีดังนี้ 1. เชิญ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งได้อภิปรายให้ข้อมูล ซึ่งได้มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ย.64 2. ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาภายในอาคารรัฐสภา การเข้าปฏิบัติภารกิจของนายกรัฐมนตรีบริเวณชั้น 3 อาคารรัฐสภา ของนายกรัฐมนตรีและผู้ติดตามนายกรัฐมนตรี 3. ตรวจสอบการเข้าพบนายกรัฐมนตรี ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องรับรองนายกรัฐมนตรี ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ในช่วงเวลาที่มีการกล่าวอ้างจากการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 ก.ย.64 4. เชิญบุคคลที่จะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเข้าให้ข้อมูล นอกจาก นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ แล้วยังมีบุคคลอื่น ๆ ที่ทางคณะกรรมการเชิญมาให้ข้อมูลอีกจำนวน 10 คน ซึ่งมาจากทั้งฝ่ายผู้กล่าวหา ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา และฝ่ายที่เป็นกลาง 5. คณะกรรมการได้รวบรวมภาพจากกล้องวงจรปิดจากสถานที่ต่าง ๆ ภายในอาคารรัฐสภา เพื่อประกอบการตรวจสอบ 6. พิจารณาตรวจสอบและวิเคราะห์ว่า จากข้อมูลและพยานหลักฐานที่คณะกรรมการ แสวงหาและรวบรวมกรณีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้หรือไม่ว่า นายกรัฐมนตรีจ่ายเงินให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องรับรองนายกรัฐมนตรี ชั้น 3 อาคารรัฐสภา หรือมีพยานหลักฐานใดที่สามารถสนับสนุนหรือฟังได้ว่า มีการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวภายในบริเวณอาคารรัฐสภา
บัดนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอเสนอความเห็นกรณีดังกล่าวว่าจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้แสวงหารวบรวมและตรวจสอบ ไม่มีประจักษ์พยาน หรือไม่มีพยานแวดล้อมเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายกรัฐมนตรีได้จ่ายเงินให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ลงคะแนนไว้วางใจให้กับนายกรัฐมนตรีภายในอาคารรัฐสภา ในคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันพฤหัสที่ 2 ก.ย. 64 ตามที่นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด
|