|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และ นายภราดร ปริศนานันทกุล กมธ. แถลงข่าวสรุปการดำเนินงานของคณะ กมธ.
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 22 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
วันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ และพ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และ นายภราดร ปริศนานันทกุล กมธ. แถลงข่าวสรุปการดำเนินงานของคณะ กมธ. โดยที่คณะ กมธ. ได้มีการพิจารณาศึกษาแล้วทั้งหมด จำนวน 11 ครั้ง ทั้งนี้ วงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ แบ่งการใช้จ่ายเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 จากเดิมวงเงิน 30,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีการถ่ายโอนวงเงินจากแผนงานที่ 2 จำนวน 20,000 ล้านบาท ทำให้แผนงานที่ 1 มีวงเงินรวมจำนวน 50,000 ล้านบาท มียอดวงเงินอนุมัติ ณ วันที่ 26 พ.ย. 64 จำนวน 41,518 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะ กมธ. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการเพื่อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐควรเตรียมวัคซีนให้มีความหลากหลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคตและควรมีแนวทางในการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในอัตราที่สูงกว่าทุกภาคส่วน ตลอดจนลูกจ้างผู้ใช้แรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ให้มีสิทธิฉีดวัคซีน ณ ภูมิลำเนาได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับมายังสถานประกอบการของนายจ้าง นอกจากนี้ ควรสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสูตรการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันความสับสน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงกันควรได้รับวัคซีนสูตรเดียวกันในการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 3 รวมทั้งควรกำหนดระบบการลงทะเบียนให้มีความชัดเจนและมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ตลอดจนควรจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพื่อจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit) ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงเรียนและผู้ปกครอง แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จากเดิมวงเงิน 300,000 ล้านบาท ถ่ายโอนให้แก่แผนงานที่ 1 จำนวน 20,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินรวม 280,000 ล้านบาท มียอดวงเงินอนุมัติ ณ วันที่ 26 พ.ย. 64 จำนวน 149,599 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะ กมธ. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด โดยให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เนื่องจากประชาชนในทุกพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท มียอดวงเงินอนุมัติ ณ วันที่ 26 พ.ย. 64 จำนวน 82,521 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะ กมธ. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ซึ่งมีการเบิกจ่ายในระดับที่ต่ำมาก จึงเห็นควรถ่ายโอนวงเงินไปใช้ประโยชน์ในโครงการอื่น ๆ ทดแทน สำหรับโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 ควรมีการขยายกรอบวงเงินโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และควรให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน (กรอ. ) มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางเพื่อเสนอแผนงานและโครงการของหน่วยงานส่วนภูมิภาค เพื่อให้การพัฒนาของจังหวัดและภูมิภาคต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่วนโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ควรมีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจกลางคืนผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจกลางคืน รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพในสถานประกอบการออกกำลังกายของเอกชนหรือฟิตเนส ให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติต่อไป |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|