|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะ แถลงข่าว
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 18 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะ แถลงข่าวกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติในประเด็นที่คู่รักที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิงยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทำให้ทั้ง 2 รายยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส ทั้งนี้หากนายทะเบียนปฏิเสธ ขอให้ส่งคำร้องโต้แย้งข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะเพศชายและหญิง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 26 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไปนั้น ซึ่งทางพรรคก้าวไกลมีความเห็นต่อกรณีนี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่คำวินิจฉัยที่เป็นฉบับเต็ม พรรคก้าวไกลได้อ่านคำวินิจฉัยทั้งหมดจำนวนสามย่อหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแปดบรรทัดสุดท้าย สะท้อนให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้นำไปสู่ทางตันของการแก้ไขปัญหาในบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง เพราะคำวินิจฉัยที่ออกมาทั้งหมดแปดบรรทัดนั้น มีนัยยะที่สำคัญดังนี้ 1. การอธิบายและตีความบทบัญญัติในมาตรา 4 มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น หากไม่ได้ถูกระบุถึงความเป็นมนุษย์อย่างจำเพาะเจาะจง ประชาชนจะเข้าใจอย่างถูกต้องได้อย่างไร และหากไม่เขียนให้ชัดเจนไว้ในธรรมนูญก็อาจไม่ได้รับการคุ้มครอง 2. บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 27 ได้เขียนหลักการที่รองรับความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่มีอยู่วรรคหนึ่งที่ระบุว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยศาลมีความเห็นว่าคำว่าเพศไปไกลกว่าคำว่าเพศชายและเพศหญิง และในตอนท้ายคำวินิจฉัยที่บอกว่ากรณีการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น เป็นเรื่องที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการ อาจทำให้สังคมตั้งคำถามว่าหมายถึง การบีบและปิดทางตันไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ขอให้สังคมรอฟังคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ว่าจะมีเจตจำนง วิธีคิด และมุมมองในการเขียนคำวินิจฉัยสุดท้ายอย่างไร โดยพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า พรรคจะติดตามและผลักดันในเรื่องนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องทั้ง 69 มาตรา เนื่องจากเชื่อมั่นว่าอำนาจการออกกฏหมายเป็นของรัฐสภา อำนาจการออกกฏหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนเป็นของประชาชน อำนาจคุ้มครองสิทธิที่เหนือกว่าคือสิทธิโดยธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของคนที่จะรักกัน สิทธิของคนที่จะก่อตั้งครอบครัว ไม่มีผู้ใดที่จะพรากสิทธินี้ออกไปจากตัวได้
จากนั้น นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษาในเรื่องนี้อย่างไร ทางพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมต่อไปผ่านกลไกรัฐสภา ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวาน (17 พ.ย.64) นั้นเป็นคนละประเด็นกัน อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าอย่างไร ในฐานะผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการยื่นเสนอกฎหมายและผ่านกฎหมาย ต้องถือว่าเป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาแล้ว แต่ผู้แทนราษฎรกำลังจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายสู่อนาคต ผ่านกลไกรัฐสภาและตัวแทนจากประชาชน ทั้งนี้ ขอยืนยันและยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนว่า การก่อตั้งครอบครัวเป็นสิ่งที่ใครจะพรากไปไม่ได้ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะต่อสู้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนให้สมาชิกฯ ร่วมกันผลักดันให้การสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์และความเสมอภาคของประชาชนคนไทยต่อไป |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|