|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวรัฐสภา |
ประธานรัฐสภา และ ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกันแถลงภายหลังการเข้าเยี่ยมคารวะประธานรัฐสภา ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 5 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เวลา 12.30 นาฬิกา ณ ด้านหน้าห้องรับรองพิเศษ ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายอเล็กซ์ คูเพรซท์ (H.E.Mr.Alex Kuprecht) ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกันแถลงภายหลังการเข้าเยี่ยมคารวะประธานรัฐสภา ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์ผูกพันกันมานาน 90 ปี ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์มีการขยายตัวตลอดมา คนไทยเมื่อพูดถึงสวิตเซอร์แลนด์ ชาวสวิส จะรู้สึกถึงมิตรไมตรีเป็นพิเศษเพราะในอดีตล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 และ 9 พำนักและศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ คนไทยรู้สึกว่าสวิตเซอร์แลนด์เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพระมหากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ ประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบว่ามีชุมชนชาวไทยในสวิตเซอร์แลนด์จำนวนประมาณ 30,000 คน และมีชาวสวิสจำนวนประมาณ 10,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ พักอาศัยอยู่เป็นชุมชนใหญ่ ซึ่งประธานรัฐสภาได้ไปเยี่ยมชมและได้พูดคุยกับชาวสวิสที่พักอาศัยอยู่ที่นั้น ได้รับทราบเหตุผลที่ชาวสวิสมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย คือ ค่าครองชีพที่ไม่สูงและอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นมิตร มีน้ำใจไมตรีและความจริงใจแม้สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยจะไม่ราบรื่น แต่ยังมีความก้าวหน้าทางการเมือง คนไทยตื่นตัวและหวงแหนประชาธิปไตยมากขึ้นตามลำดับ ใครจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่สามารถทำได้ในยุคปัจจุบันซึ่งแตกต่างจากในบางยุคสมัย ประสบการณ์การเมืองของไทยยังมีปัญหาอยู่ เช่น ประชาธิปไตยที่เป็นธุรกิจการเมือง การใช้เงินอย่างรุนแรงในเรื่องการเมือง หวังว่าในอนาคต ปัญหาเหล่านี้จะผ่านพ้นไป รัฐสภาไม่ย่อท้อต่อปัญหานี้ จึงริเริ่มโครงการบ้านเมืองสุจริต ซึ่งเป็นโครงการใหม่ เพื่อทำให้ประชาชนมีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องความสุจริต ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ประกอบด้วยตัวแทนสถาบันการศึกษาและสื่อมวลชนเพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนเชื่อและศรัทธาในเรื่องความสุจริตในช่วงสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามร่วมกับอดีตประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส เพื่อคุ้มครองการลงทุน หลักฐานการลงนามครั้งนั้นยังปรากฏอยู่เมื่อประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิสเดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2540 และเมื่อดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ได้เห็นชอบให้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-สวิตเซอร์แลนด์ขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ เรื่องประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนต้องเคารพกฎหมายบ้านเมือง
ใครจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่สามารถทำได้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากในบางยุคสมัย เพราะสิ่งเหล่านี้คือความก้าวหน้าทางด้านประชาธิปไตยของประเทศไทย นายอเล็กซ์ คูเพรซท์ (H.E.Mr.Alex Kuprecht) ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส กล่าวว่า ประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนที่ดีมาก ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนสินค้า การลงทุน และถิ่นที่อยู่ระหว่างชาวไทยและชาวสวิส
สวิตเซอร์แลนด์เป็นรัฐภาคีของสมาคมการค้าเสรียุโรปหรือเอฟตา (The European Free Trade Association : EFTA ) อยากให้ประเทศไทยลงนามความตกลงด้านการค้ากับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสมาคมการค้าเสรียุโรปจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม เมษายน 2565 โดยนาย Benedikt Würth สมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้ร่วมเดินทางกับคณะผู้แทนวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิสเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ จะร่วมเดินทางกับคณะดังกล่าวในปีหน้าด้วย หวังว่าการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-สวิตเซอร์แลนด์ และกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์-ไทย จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระดับรัฐสภาระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว หวังว่านักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะมาเยือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|