|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
รองประธานคณะ กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คนที่หก พร้อมด้วย รองประธานคณะ กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คนที่สาม รับยื่นหนังสือจาก ผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ภาคประชาชนแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้แก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 14 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 10.10 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายคมเดช ไชยศิวามงคล รองประธานคณะ กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คนที่หก พร้อมด้วย นายนิคม บุญวิเศษ รองประธานคณะ กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คนที่สาม รับยื่นหนังสือจาก นายวรพงษ์ ลัภโต ผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ภาคประชาชนแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้แก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เนื่องจากผู้ประกอบการวิทยุชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงในปี 2565 เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือการครอบงำตลาด โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศที่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ จำนวน 6 ฉบับ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการนำข้อมูลของสถานีของรัฐและรัฐวิสาหกิจ 27 หน่วยงาน จำนวน 313 สถานี ซึ่งเป็นสถานีที่มีกำลังส่งสูงตั้งแต่ 700 - 40,000 วัตต์ มาบรรจุในร่างแผนความถี่ด้วย
จากกรณีดังกล่าว จะทำให้ช่องคลื่นวิทยุเอฟเอ็มเกินกว่าครึ่งยังอยู่ในการครอบครองของรัฐเป็นส่วนใหญ่ และนำไปให้สัมปทานกับเอกชน ในขณะที่ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นสถานีขนาดเล็กหรือสถานีวิทยุท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 4,000 สถานี กลับถูกกติกาใหม่กำหนดให้ลดกำลังส่งเหลือเพียง 50 วัตต์ จากปัจจุบัน 500 วัตต์ ซึ่งแตกต่างจากกำลังส่งของสถานีของรัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมาก และการที่คณะกรรมการ กสทช. มีมติเห็นชอบยกเลิกสถานีวิทยุทดลองภาคประชาชน (กำลังส่ง 500 วัตต์) จำนวนกว่า 4,000 สถานี พร้อมกันในวันที่ 3 เม.ย. 65 เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการอนุญาต โดยการกำหนดเงื่อนไขสำหรับสถานีวิทยุทดลองเดิมให้ใช้งานคลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำที่ 50 วัตต์นั้น อาจทำให้เหลือสถานีวิทยุท้องถิ่นที่เดินหน้าตามกติกาใหม่ได้ไม่ถึง 1,000 สถานี และอาจเป็นเจตนาแฝงแต่แรกของ กสทช. ที่ตั้งกติกาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากในขณะที่ กสทช. ลดกำลังส่งของวิทยุชุมชนลงเหลือ 50 วัตต์ แต่สถานีวิทยุหลักเดิม 313 สถานี ที่มีบริษัทเอกชนรับสัมปทานเช่าเหมาจากรัฐและรัฐวิสาหกิจ ไปทำธุรกิจรับจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่นั้น ยังคงออกอากาศด้วยกำลังส่งแรงตามเดิม คือ 700 - 40,000 วัตต์ โดยกติกาเหล่านี้จะทำให้ประชาชนขาดโอกาสและเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร จึงเห็นว่า กสทช. ควรเรียกคืนคลื่นเอฟเอ็มทั้งหมด เพื่อนำมาจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม คุ้มค่าต่อทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และไม่เลือกปฏิบัติกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
โดยนายคมเดช ไชยศิวามงคล กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการปิดกั้นและริดรอนสื่อ อีกทั้ง ส่งผลให้ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ที่ใช้ช่องทางดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์กิจการได้รับผลกระทบ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะ กมธ. เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ด้านนายนิคม บุญวิเศษ กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งประกาศฉบับนี้ไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง และผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าด้วยเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยการแก้ไขกฎหมายจะเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ กลุ่มประชาชนได้ทำการรวบรวมรายชื่อจำนวน 10,000 รายชื่อ เพื่อขอแก้ไขกฎหมาย และเมื่อครบถ้วนตามจำนวนแล้ว จะเสนอให้กับสภาต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|