|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
การประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวี/เอดส์
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 8 ๏ฟฝ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. 64 เวลา 20.00 21.30 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา (IPU Advisory Group on Health AGH) ได้เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวี/เอดส์ ในหัวข้อหลัก "บทบาทของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อยุติโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573" (The role of parliaments in addressing inequalities to end AIDS by 2030) ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โปรแกรม Zoom) โดยมี Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม และ Ms. Petra Bayr สมาชิกรัฐสภาออสเตรีย ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา เป็นผู้ดำเนินการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 177 คน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในหัวข้อ การเสริมสร้างมาตรการสร้างความเท่าทียมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาเอชไอวี (Strengthening the HIV response through equity) โดยมีผู้ร่วมอภิปรายจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา สภายุโรป รัฐสภาแห่งแอฟริกา และองค์กรความร่วมมือว่าด้วยโรคเอดส์และสิทธิของแอฟริกา
จากนั้น สมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกได้ร่วมกันอภิปรายในหัวข้อ "บทบาทของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อยุติโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573" ในการนี้ น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมว่า ภายใต้การสนับสนุนของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคเอดส์และเอชไอวีในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะลดตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเอดส์ และลดการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเพศภาวะ ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ไทยมีความภาคภูมิใจที่จะนำเสนอว่า เมื่อปี 2559 องค์การอนามัยโลกได้ยกย่องว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียและประเทศที่สองในโลกที่สามารถขจัดการแพร่เชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก พร้อมทั้งยังกล่าวอีกว่า แม้ไทยจะมีความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว แต่การตีตราทางสังคมและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจ้างงานยังคงต้องการความสนใจมากขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายรวมถึงสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทยได้ยกเลิกข้อกำหนดการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในข้าราชการ และห้ามมิให้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยไม่สมัครใจ อันเป็นอุปสรรคต่อการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และการศึกษาในภาคราชการ นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค. 63 กระทรวงแรงงานของไทยได้ออกประกาศกระทรวงที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ เพื่อลดการเลือกปฏิบัติและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในการจ้างงานตามมาตรฐานสากล ในการนี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะจัดการกับประเด็นทางสังคมของปัญหาเอชไอวีและเอดส์ การเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจและการยอมรับที่ดีขึ้นภายในชุมชน สถานที่ทำงาน และทั่วทั้งสังคม และสมาชิกรัฐสภามีบทบาทในการช่วยลบล้างอคติและภาพพจน์ที่ผิดเพี้ยน และเสริมสร้างทัศนคติการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยการปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยการให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครดิต : ภาพและข่าวโดยกลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|