|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
ประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสาธารณะ ครั้งที่ 4
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 22 ๏ฟฝ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 416 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ศ.วันชัย วัฒนศัพท์ ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสาธารณะ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาความคืบหน้าการพบปะหารือผู้ทรงคุณวุฒิและการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่ม REDEEM ณ บริเวณท้องสนามหลวง ทำให้ทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บ ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมรวมถึงสื่อมวลชน ซึ่งได้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะถึงคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนและบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นสำคัญ ซึ่งสื่อมวลชนควรเป็นผู้นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเป็นจริงและไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้เข้าพบ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. โดยได้ตั้งคำถามใน 2 ประเด็นคือ 1.อยากเห็นกรรมการชุดนี้ทำอะไร เพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ และ 2. แนวคิดเรื่องการเจรจาก่อนจัดหรือก่อนที่จะมีการจัดชุมนุม ตามหลักการป้องกันก่อนปราบปรามเพื่อลดการเผชิญหน้าและความรุนแรง เช่นเดียวกับแนวคิดตาวิเศษ เนื่องจากการเจรจาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ พร้อมทั้งได้เสนอให้มีการดำเนินการ ดังนี้ 2.1 ขอให้มีการอบรมตำรวจเรื่องการเจรจาไกล่เกลี่ย เน้นกระบวนการเพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน 2.2 การออกหมายเจรจาก่อนจับ หรือก่อนจัดการชุมนุม 2.3 การจัดให้มีคนกลาง ซึ่งอาจมีการแสดงออกโดยการสวมเสื้อสัญลักษณ์ ปรากฎตัวอยู่ในที่ชุมนุม เพื่อสร้างความเกรงใจให้แก่ทุกฝ่าย และอาจชะลอการใช้ความรุนแรง รวมทั้งได้เข้าพบ ผศ.อนุชา จินตกานนท์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดย ผศ.อนุชา เห็นว่าการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา ตั้งอยู่บนหลักของข้อเท็จจริง (fact) เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัย พร้อมทั้งได้เสนอแนวคิดเรื่อง Safe Place ในการพูดคุยกันของทุกฝ่ายเป็นวงปิด ที่มีคนกลางเป็นผู้ดำเนินการ โดยอาจเป็นสถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้พิจารณาข้อเสนอให้มีคณะกรรมการร่วมในการบริหารการชุมนุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ส.ส.ที่เคยประกันตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม และคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อประสานการดำเนินงานร่วมกันและเชื่อมโยงความเข้าใจเพื่อให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ พิจารณาต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|