เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 16.00 นาฬิกา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เขตดินแดง กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อวิชา (3 2) เรื่อง ธรรมาภิบาลกับการต่อสู้กับคอร์รัปชัน ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 (สวปอ.มส.SML รุ่นที่ 2) ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและบุคคลทั่วไป จำนวน 170 คน เพื่อให้ทราบถึงหลักธรรมาภิบาล รูปแบบการคอร์รัปชัน และกระบวนการ เทคนิคที่จะนำมาใช้ในการต่อสู้กับคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักและการมีส่วนร่วมในความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งมีทักษะการบริหาร และความเป็นผู้นำระดับยุทธศาสตร์ โดยมี นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรับฟังการบรรยาย
โดยนายชวน หลีกภัย ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 12 ความตอนหนึ่งว่า "ในบ้านเมืองนี้ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้... ซึ่งยืนยันว่าในสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี หากคนไม่ดีมีอำนาจเข้าไปปกครองบ้านเมืองก็จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับบ้านเมือง และจากประสบการณ์ในการทำงานด้านการเมืองมาตลอด ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นกับดักของบ้านเมืองตลอดมาคือการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองอย่างมากและไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ด้วยเหตุนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการ การเมืองสุจริต และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น บ้านเมืองสุจริต โดยเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว และสร้างพื้นฐานสังคมที่ดีโดยมีเยาวชนและประชาชนทั่วไปเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพราะการได้มา ซึ่งสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องได้มาด้วยความชอบธรรมหรือได้มาด้วยความสุจริต จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ทั้งนี้ แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากใช้มาตรการทางด้านกฎหมายในการปราบปรามแล้ว ควรนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย 1. หลักนิติธรรม คือ การปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ 2. หลักคุณธรรม คือ การยึดมั่นในคุณธรรม ความถูกต้อง เที่ยงตรง 3. หลักความโปร่งใส คือ การสร้างความไว้วางใจ ซึ่งกันและกันของคนในชาติ ปรับปรุงกลไกการทำงานทุกองค์การให้เกิดความโปร่งใส และเปิดเผยข้อมูล 4. หลักการมีส่วนร่วม คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจในปัญหาสำคัญ 5. หลักความรับผิดชอบ คือ ความรับผิดชอบในงานของตน การกระทำของตน รวมถึงการตระหนักและสำนึกในสิทธิและหน้าที่ โดยได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 52 ที่ว่า "ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่น ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด" และพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 53 ที่ว่า "คนไทยทุกหมู่เหล่าควรทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด มีความไม่ประมาท และมีความมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ..." ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระองค์ท่านได้เน้นย้ำในเรื่องของความรับผิดชอบและให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด 6. หลักความคุ้มค่า คือ การบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งต้องเพิ่มหลักความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกข้อหนึ่ง เพราะมีข้าราชการดี ๆ หรือนักการเมืองดี ๆ หลายคนต้องติดคุก เพราะมาจากความเกรงใจ มีการแก้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักการเมืองให้ได้ประโยชน์ แต่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย โดยความเกรงใจนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่ต้องเกรงใจให้ถูกเรื่อง ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับ "หลักธรรมาภิบาล" อย่างจริงจัง ซึ่งผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าใจและจำหลักเหล่านี้ได้อย่างดี แต่องค์กรทั้งหลายโดยเฉพาะภาครัฐยังมีปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบมีการทุจริตในเกือบทุกองค์กรและลุกลามไปทุกระดับ สาเหตุมาจากการขาดธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติ และคนไม่ดีมาควบคุมกฎเกณฑ์แล้วละเมิดกฎเกณฑ์เสียเอง ดังนั้น ธรรมาภิบาล ภาคปฏิบัติ จึงต้องพร้อมทั้งการปฏิบัติจริง ไม่ใช่มีความรู้เพียงอย่างเดียว และจะต้องพัฒนาให้บุคลากรขององค์กรเป็นคนดีต่อไป สำหรับหลักสูตรดังกล่าว สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในพระบรมราชูปถัมภ์จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมซึ่งเป็นบุคลากรที่ทรงคุณวุฒิและมีศักยภาพของประเทศ มีทัศนคติที่ถูกต้องในการป้องกันราชอาณาจักร และสามารถรับรู้ ซึมซับวัฒนธรรม ตลอดจนความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันประเทศ และ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวเดินต่อไปในทิศทางที่ถูกต้อง อีกทั้งเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ทันสมัย เสริมสร้างทักษะ การวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม และทักษะในการบริหารที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ องค์กรระดับสูง ตลอดจนทักษะความเป็นผู้นำในระดับยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้ วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และสร้างจิตสำนึก ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ มีความเข้าใจและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี จนนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคม และประเทศชาติต่อไป |