|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ ครั้งที่ 9
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 15 ๏ฟฝ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
วันจันทร์ที่ 15 มี.ค. 64 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 419 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นประธานการประชุม ครั้งที่ 9 เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 1. การรับฟังความเห็นตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี โฆษกคณะกรรมการฯ ได้ไปพูดคุยนอกรอบกับแกนนำผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ซึ่งได้สะท้อนความไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันของเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ละฝ่าย และกังวลถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังว่ากระบวนการรัฐสภาจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา และเสนอแนะให้คณะกรรมการฯ เร่งให้เกิดการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องคดีความต่าง ๆ ของผู้ชุมนุม การจัดพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น และรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังความเห็นจาก ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รวมทั้งเหยื่อกลุ่ม กปปส. และกลุ่มเสื้อแดง พบว่ามีความเหมือนและความต่าง โดยทั้งสองฝ่ายจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน คือ ไม่ชอบให้มีคนพูดถึงพวกเขาในเชิงด้อยค่า ลดทอนความเป็นมนุษย์ และการปรามาสว่าพวกเขาถูกจ้างมา รวมทั้งพวกเขาได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่เข้าร่วมชุมนุมซึ่งผลกระทบนั้นลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก แต่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายมีความเหมือนกันคือการรับฟังสื่อเพียงข้างเดียวจนไม่ได้ฟังสื่ออีกข้างหนึ่ง ทำให้ไม่เข้าใจและเปิดรับมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่าง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสองมาตรฐานที่พวกเขายังรู้สึกอยู่ ดังนั้น ความพยายามแสวงหาความยุติธรรมและความสมานฉันท์ต้องมีความสมดุลกันเพื่อให้คนยอมรับได้ และควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างสังคมอารยะ (Civil Society) อีกทั้งหากมีการชุมนุม คณะกรรมการฯ ควรเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ 2. รายงานความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการทั้งสองคณะ ดังนี้ 1) คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสาธารณะ รายงานสรุปผลการสานเสวนาประชาธิปไตยที่เยาวชนพึงปรารถนา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 เวลา 08.30 - 16.00 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรก โดยในภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จและตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้เกี่ยวข้องทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในประเด็น ประชาธิปไตยที่เยาวชนพึงปรารถนา โดยสรุปฉันทามติได้ 5 ประเด็น ดังนี้ 1. ต้องการเห็นการเปิดพื้นที่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และต้องการเห็นความรักความสามัคคีของคนในประเทศ 2. ต้องการเห็นประชาธิปไตยที่มีการใช้กฎ กติกา ที่ชัดเจนในการจัดการและแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน รวมถึงเสียงส่วนใหญ่ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย 3. ต้องการเห็นสังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มที่แสดงออกโดยการชุมนุม และควรจัดเวทีให้มีการพูดคุยกันระหว่างนักเรียน/นักศึกษา และฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 4. ต้องการเห็นภาครัฐเข้ามาดูแลบัณฑิตจบใหม่ โดยการจัดหางานรองรับให้ตรงกับสายงานและความชำนาญ 5. ต้องการเห็นประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยเน้นภาคการเกษตร นอกจากนี้ ยังได้สอบถามผู้เข้าร่วมสานเสวนาถึงความรู้สึกในเรื่องกระบวนการของการดำเนินการ ซึ่งผู้เข้าร่วมสานเสวนาส่วนใหญ่เห็นว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่ดีมาก และต้องการให้จัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแนะให้จัดพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่องเพื่อให้ได้ความต้องการที่แท้จริง และเสนอประเด็นเร่งด่วน อาทิ คดีความต่าง ๆ การถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ และการไม่ใช้ความรุนแรงในการจับกุม
อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการยังได้จัดเวทีสานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 64 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น และวันที่ 14 มี.ค. 64 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งประสบผลสำเร็จและมีผลการดำเนินการที่คล้ายคลึงกันกับที่ จ. ชัยภูมิ ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดเวทีสานเสวนาอีก 4 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 20 มี.ค. 64 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี วันที่ 25 มี.ค. 64 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม วันที่ 4 เม.ย. 64 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย และวันที่ 19 เม.ย. 64 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา 2) คณะอนุกรรมการสมานฉันท์เชิงประเด็น รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการมอบหมายให้ดำเนินการติดตามเชิงคดีเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุม และพิจารณาศึกษาประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายในแผนการปฏิรูปประเทศและที่สำคัญเร่งด่วนและมีผลต่อการลดความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความละเอียดอ่อนมาก จึงเห็นว่าหากสามารถผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ก่อนก็จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ รวมทั้งได้ติดตามความคืบหน้าข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านบางกลอยเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาประเด็นความขัดแย้งในมิติของการศึกษาอีกด้วย
ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการฯ ได้นัดประชุมครั้งต่อไป ในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค. 64 เพื่อพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|