วันอังคารที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย รามคำแหง มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถา เรื่อง บทบาท หน้าที่ และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการผลักดันร่างกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ให้แก่ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่น จำนวน ๑,๗๐๐ คน จัดโดย สมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่นประเทศ โดยมี นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานสภาผู้แทน ราษฎร และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานทางการเมืองประธาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมในการดังกล่าว ในโอกาสนี้ ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาใจความว่า หลักการกระจายอำนาจการปกครอง อยู่ที่การกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง อันถือ เป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะเห็นได้ว่า การกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอิสระในการปกครองและการบริหารตนเอง โดยได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ขณะนั้นตนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นครั้งแรก โดยได้เสนอแนวคิด การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นด้วยเหตุผลที่ว่า ได้เห็นความแตกต่างความเจริญ ของส่วนกลางและต่างจังหวัด ทำไมคนที่อยู่ต่างจังหวัดต้องเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ ทำไมต้อง มารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องกระจายออกไป ๓ เรื่อง คือ ๑. การกระจายรายได้ ๒. การกระจายโอกาส ๓. การกระจายอำนาจ การกระจายที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การกระจายโอกาส กล่าวคือการทำให้ภูมิภาคมีโอกาสท้องถิ่น มีโอกาส แม้จะมีโอกาสไม่เทียบเท่ากับส่วนกลาง แต่อย่างน้อยก็จะต้องมีโอกาสเพียงพอที่ตนเอง จะสามารถเลือกได้การกระจายอำนาจปรากฏเห็นผลเป็นรูปธรรม หลังมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เพราะมีบทบัญญัติว่าด้วยการกระจายอำนาจกำหนด ไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจในขณะที่ตนดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจาย อำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนการกระจายอำนาจ นับเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการของ การกระจายอำนาจของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการกับองค์กร ปกครอง ส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การปกครองท้องถิ่นไทยในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นการปกครองท้องถิ่นยุคใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปกครองท้องถิ่นในช่วงก่อนหน้านั้น คือ มีความเป็นอิสระ และ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้ ต้องยอมรับว่า เป็นผลสำคัญจากการผลักดัน ร่างกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร
|